xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ขอโทษคนใต้ช่วยเหลือล่าช้าติดขัดขนส่ง ชมเป็นนักสู้ขอคนทั้งชาติเอาอย่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ หอบคณะบินไปสุราษฎร์ธานี เยี่ยม ปชช.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใต้ ให้กำลังใจหทาร-ตำรวจร่วมชะตากรรมด้วยกัน ฟังผู้ว่าฯ รายงานความเสียหายสูง 1,900 ล้าน พร้อมบอกสื่อเลิกสนใจอ่างบัว ขอโทษคนใต้การช่วยเหลือล่าช้า ติดขัดขนส่ง ชมคนใต้เป็นนักสู้ แนะคนทั้งชาติเอาเป็นแบบอย่าง เล็งปรับผังเมืองใหม่ไม่ให้ขวางทางน้ำอีก ครวญเห็นใจ ปชช. ลั่นขอทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

วันนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และคณะ เดินทางด้วยเครื่องบินแอมแบร์ไปตรวจราชการที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจมาให้การต้อนรับ นายกฯ ยังได้กล่าวสั้นๆ เมื่อถึงว่า “เป็นกำลังใจให้ทั้งทหาร ตำรวจ ร่วมชะตากรรมด้วยกันกับผม”

จากนั้นนายกฯ และคณะได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย อ.พุนพิน อ.บ้านนาเดิม และ อ.เคียนซา โดยก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ นายกฯ ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่าอย่าสนใจเรื่องอ่างบัวมากนัก มาสนใจเรื่องน้ำท่วมดีกว่า หลังจากตรวจแล้วเฮลิคอปเตอร์ได้บินกลับมายังกองบินที่ 7 ก่อนนายกฯ และคณะได้ขึ้นรถทรานส์ฟอร์เมอร์ของ ปภ.ทะเบียน 4 กศ 4336 กรุงเทพหานคร เดินทางไปยังจุดบริการประชาชนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน โดยระหว่างที่ขบวนรถนายกฯ ผ่านได้มีเต็นท์พักชั่วคราวของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมซึ่งไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ รวมถึงสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ที่ต้องนำมาเลี้ยงบนไหล่ทางเป็นการชั่วคราว โดยขบวนรถของนายกฯ ได้ชะลอความเร็วเพื่อดูด้วย

ทั้งนี้ เมื่อนายกฯ และคณะเดินทางถึงโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี มีนายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ว่าฯ จ.สุราษฎร์ธานี ข้าราชการและประชาชนให้การต้อนรับ โดยนายกฯ ได้เดินทักทายประชาชน และเมื่อเดินมาถึงจุดบริการประชาชนที่เปิดตรวจสายตาและตัดแว่นสายตาให้ประชาชน นายกฯ ได้ลองสวมแว่นลองอ่านพร้อมถ่ายรูปร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปภ. โดยนายกฯ ได้ชูสองนิ้ว จากนั้นนายอวยชัยได้รายงานสถานการณ์ว่า จ.สุราษฎร์ธานี ประสบภัยน้ำท่วม 2 ช่วง คือ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 59 และอีกช่วงวันที่ 5 ม.ค.จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่เดือดร้อน 18 อำเภอ จำนวน 79,000 ครอบครัว 3 แสนกว่าราย โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงตามลำดับ แต่พื้นที่ส่วนบนมีน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีฝนตกมากขึ้นที่ อ.นาเดิม พุนพิน และเคียนซา ได้รับผลกระทบ 2,000 ครอบครัว ราษฎรได้รับผลกระทบ 5,000 ราย โดย อ.พุนพิน และนาเดิม ถือว่าวิกฤต โดย จ.สุราษฎร์ธานีมีภาพรวมความเสียหาย 1,900 ล้านบาท ไม่รวม 3 อำเภอ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 15 ราย

จากนั้นนายกฯ ได้มอบเงินเยียวยาแก่ญาติผู้เสียชีวิต จ.สุราษฎร์ธานี รายละ 5 หมื่นบาท และจังหวัดอื่นๆ เช่น จ.นครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง ชุมพร นราธิวาส เป็นต้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนรับมอบ ต่อจากนั้นนายกฯ ได้ขึ้นเวทีกล่าวกับประชาชนตอนหนึ่งว่า วันนี้ถือว่าได้มาเยี่ยมเยือนถึงถิ่นของท่าน ทีแรกไม่ค่อยสบายใจคิดว่ามาจะเห็นบรรยากาศที่เศร้ากันทั้งหมด เห็นทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส นี่แหละคนใต้ คนใต้เป็นคนสู้แบบนี้ และอยากให้คนไทยทั้งประเทศเป็นคนที่สู้แบบนี้ด้วย ต้องอดทนกับการแก้ปัญหากับบางอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเราอดทนร่วมกันได้ มีจิตใจที่เข้มแข็งแบบชาว จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทยไปโลดวันหน้าไม่ต้องกลัว

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเยี่ยมเยือนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่มา จ.สุราษฎร์ธานี เพราะความรักชาว จ.สุราษฎร์ฯ อยู่แล้ว และตรงนี้เป็นศูนย์บรรเทาส่วนหน้าของกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ที่ 2 อยู่ที่ จ.สงขลา เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะมากำกับดูแลนโยบาย และนำขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ และมีปัญหาอะไรต้องรายงานตน ที่ผ่านมามีการรายงานมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าต้องขอโทษบางอย่างอาจจะช้าไปบ้าง บางอย่างยังไม่ทั่วถึงเพราะติดขัดเรื่องการขนส่ง ทุกคนรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว ปัญหาของคนไทยก็คือการดำรงชีวิต เราไม่เหมือนประเทศอื่นในโลก เรารักบ้านรักที่ทำกิน เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไปไหนไม่ได้ วันหน้าต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไร ทุกคนก็กลัวข้าวของ ทรัพย์สินเงินทองสูญหาย ตรงนั้นต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร วันนี้ให้ความสำคัญต่อชาวใต้ทั้งหมด และขอบคุณผู้ว่าฯ รายงานรายละเอียดได้อย่างลึกซึ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นนายกฯ ได้แนะนำผู้ร่วมคณะทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี บอกว่าทั้งหมดทำหน้าที่บูรณาการร่วมกันดูแลด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการเกษตร ถนนเส้นทางที่ซ่อมแซม และการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อ เพื่อไม่ให้ถนนเพชรเกษมประสบปัญหาน้ำท่วมอีก ส่วนของกลาโหม ทหาร พลเรือน อาชีวะจะเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างการซ่อมแซมบ้าน ด้านของกระทรวงการคลังดูเรื่องของงบประมาณเยียวยา และงบฯ ที่ต้องใช้เพิ่มเติมที่พิจารณาไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องของผังเมือง นายกฯ บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาวางผังเมืองให้ดี ทำอย่างไรไม่ขวางทางน้ำ ต้องขอความร่วมมือกับพวกเราด้วย ถ้าขวางทางน้ำวันหน้าก็ท่วมอีก วันหน้าก็ไม่มีทางระบายน้ำ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเห็นรอยยิ้มว่ายังสู้อยู่ ตนก็มีกำลังใจ เราทุกคนมีกำลังใจที่จะดูแลท่าน จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ขอใช้คำว่าดีที่สุด โดยที่ทุกอย่างต้องทำงานตามระเบียบ เห็นใจพี่น้องทุกคนที่เดือดร้อน วันนี้ไม่ใช่ที่นี่ที่เดียว มีอีกกว่า 600-700 อำเภอ รัฐบาลได้เอาเรื่องทั้งหมดมาพิจารณาความเสียหายขั้นต้นว่าจะทำอย่างไร บางอันจ่ายให้เป็นระเบียบ บางอันเป็นเงินกู้ ปลัดกระทรวงการคลังก็มาอยู่ที่นี่ ตอนนี้กำลังพิจารณาในเรื่องการให้กู้อยู่ ตรงนี้คือมาตรการเสริมซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถชี้แจงได้ทั้งหมด ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นมากกว่านี้อีกนิด อันไหนทำได้ทำเลย มาตรการต่างๆ จะรีบออกมา

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ได้เห็นจากการนั่งเครื่องบินมาคือเรื่องระบบระบายน้ำ สันเขาทางตะวันตกที่ขวางทั้งหมด หากมรสุมมาทางซ้ายก็จะติดตรงนี้ ต้องเข้าใจธรรมชาติก่อน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และ รัชกาลที่ ๑๐ รับสั่งเสมอว่าเราต้องเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ ด้วยการบริหารงานของข้าราชการที่ต้องรู้สาเหตุปัญหา จากนั้นก็หาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์วันนี้จับลงมาจากดาวเทียมทั้งหมด เห็นทุกพื้นที่ว่าน้ำจะมาจากที่ไหนบ้าง และลงมาสู่การสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ก่อนหาข้อสรุป เหมือนหลักอริยสัจ 4 ที่หาสาเหตุของปัญหาไปสู่การดับทุกข์

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกร 49 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยกัน รัฐบาลทำงานบูรณาการ เปลี่ยนระบบข้าราชการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว วันนี้เร่งรัดกำหนดการรับผิดชอบให้ชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมาได้รับการายงาน ติดตามจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล และผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ บูรณาการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ ตนให้อำนาจไปแล้ว โดยต้องรู้งาน และความต้องการในพื้นที่










กำลังโหลดความคิดเห็น