“ประวิตร” เผยเตรียมเพิ่มนักวิชาการเป็นกรรมการปรองดอง เน้นครอบคลุมทุกสาขา หา 10 หัวข้อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ก่อนรับฟังความเห็นให้กองทัพดำเนินการ ส่วนพรรคการเมืองให้ระดับบนคุย หวังฟังเสร็จ 3 เดือน หยันพวกมองแค่เศษกระดาษคิดไปเอง เซ็งคนทำเหนื่อยแทบตาย แย้มอาจออกเป็นกฎหมายลูกหากขัดรัฐธรรมนูญ แต่รอทุกอย่างเสร็จก่อน ระบุ “สุวิทย์” กำลังเดินสายแจง ป.ย.ป.มีอำนาจอย่างไร
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่โรงแรมอนันตรา สยาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเพิ่มนักวิชาการในคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่าตนได้เตรียมการไว้แล้วให้เพิ่มนักวิชาการเข้ามาเป็นกรรมการ ไม่ได้เน้นว่าจะเป็นด้านนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ แต่จะให้ครอบคลุมทุกสาขา โดยมีขั้นตอนซึ่งขั้นแรกทางคณะดำเนินการจะประชุมกันก่อนเพื่อหาหัวข้อประมาณ 10 หัวข้อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ หลังจากได้ประเด็นแล้วจะเป็นขั้นตอนการรับฟังข้อคิดเห็นจากนักวิชาการ ประชาชน ภาคเอกชน โดยจะให้กองทัพเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งระดับบนจะดำเนินการในส่วนของพรรคการเมือง
“คิดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ช่วง 3 เดือนแรกเราจะรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนให้เรียบร้อย ส่วนที่มองว่าการสร้างความปรองดองไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้แท้จริงจะกลายเป็นเศษกระดาษ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่คิดไปเอง จะพูดอย่างไรก็พูดได้ คนทำก็เหนื่อยแทบตาย แต่มาบอกกว่าเป็นเศษกระดาษ ดังนั้น ขอย้ำว่าเราจะทำให้เกิดผล ส่วนปลายทางจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น อาจจะเป็นเช่นนั้นถ้าไปกันไม่ได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องออกเป็นกฎหมายลูก แต่ต้องรอให้ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก่อน ผมไม่อยากให้คิดไปไกล ขอรับฟังความคิดเห็นกันก่อน เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็ต้องมีความคิดเห็นว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนการรับฟังทุกฝ่ายน่าจะมาร่วมกันเข้ามาพูดจา เมื่อเสร็จแล้วก็มาร่วมกันดำเนินการ” พล.อ.ประวิตรกล่าว
พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการปรองดองฯ นั้น ต้องรอรายชื่อคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ การสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ออกมาเสียก่อน เมื่อมีความชัดเจนและตั้งตนให้รับผิดชอบแล้วรายชื่อคณะกรรมการปรองดองก็จะออกมา ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ย.ป.นั้น นายกรัฐมนตรีกำลังดำเนินการอยู่ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.อ.กำลังเดินสายชี้แจงว่าคณะกรรมการ ป.ย.ป.มีอำนาจหน้าที่อย่างไร