xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะ ป.ย.ป.ตั้งธงให้ชัดลดเงื่อนไขขัดแย้ง สกัดสู่ความรุนแรง ไม่เกี่ยวนิรโทษกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าประชาธิปัตย์ หวังปรองดองสำเร็จจะได้เป็นหลักประกันไม่ป่วนอีกหลังเลือกตั้ง แต่รับสังคมยังสับสนหลังพบหลายองค์กรทำ แนะ คสช.เป็นเจ้าภาพหลัก ส่วน ป.ย.ป.ต้องเอาให้ชัดลดเงื่อนไขความขัดแย้งของสังคม ป้องกันความเห็นต่างสู่ความรุนแรง และไม่เกี่ยวนิรโทษกรรม ยึดหลักกฎหมาย จ่อส่งความเห็นให้ สปท.สิ้นเดือนนี้ ขณะที่ กก.ให้เน้นประมวลความเห็น

วันนี้ (26 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือนอกรอบกับสมาชิกพรรคที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองเพื่อนำเสนอความเห็นต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตามที่ขอมาว่า อยากสนับสนุนให้งานปรองดองประสบความสำเร็จเพราะจะเป็นหลักประกันว่าเมื่อกลับสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้วบ้านเมืองจะไม่ขัดแย้งจนเกิดความรุนแรงอีก แต่ต้องยอมรับว่าในขณะนี้สังคมมีความสับสนเนื่องจากมีหลายองค์กรทำงานอยู่ เช่น หลังจากใช้มาตรา 44 ตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แล้วยังมี ป.ย.ป.ที่จะทำงานด้านปรองดองคณะหนึ่ง ซึ่งมีการประสานงานมาและมีรายงานว่าจะให้ทางพรรคให้ความเห็นโดยตั้งประเด็นกว้างขวางมาก ขณะเดียวกันก็มีคำถามจาก สปท.และมีงานที่ สนช.ทำเกี่ยวกับการปรองดองด้วย หากยังทำงานในลักษณะนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะจะเกิดความสับสน เกิดความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ จึงเสนอให้งานนี้ทำอย่างมีเอกภาพโดย คสช.เป็นเจ้าภาพหลักเพื่อทำงานให้สำเร็จ ดังนั้นควรมอบหมายงานที่ชัดเจนว่าให้ ป.ย.ป.เป็นหลักในการทำงานด้านนี้ ส่วนการขอความเห็นต่างๆ ให้ ป.ย.ป.เป็นผู้กำหนดให้ชัดว่าจะทำอย่างไรจะให้เราไปมีส่วนร่วมอย่างไรก็จะดำเนินการตามนั้น

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ป.ย.ป.ควรตั้งประเด็นให้ชัดว่าการสร้างความปรองดอง คือ การลดเงื่อนไขความขัดแย้งของสังคมในวงกว้างและเป็นการป้องกันในกรณีมีความเห็นแตกต่างจะมีวิธีการที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนประเทศเดินไม่ได้ โดยควรยึดหลักตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การปรองดองไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ยึดหลักกฎหมายซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง หากเริ่มต้นอย่างนี้พรรคก็จะทำความเห็นอย่างเป็นระบบเสนอไปทีเดียวให้ ป.ย.ป.ทำงานอย่างมีเอกภาพจะเป็นหลักประกันความสำเร็จที่ดีที่สุด ทั้งนี้จะเสนอความเห็นที่ขอให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้ส่งงานทั้งหมดให้ ป.ย.ป.ดำเนินการให้ สปท.ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้

ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ย.ป.นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทบาทของคณะกรรมการ โดยสามารถทำได้สองแบบ คือ เอาคนหลากหลายเข้ามาแต่ไม่ง่าย หรือให้ชัดไปเลยว่ากรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่อำนวยการกระบวนการรับฟังประมวลความเห็นมากกว่าจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง ซึ่งแนวที่ 2 นี้อาจใกล้กับแนวคิดเดิมจึงให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก แต่ตอนนี้ต้องยุติข้อเสนอรายวันก่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด 66/23 หรือการพักโทษเพราะเป็นอุปสรรคในการเดินหน้า สังคมจะสับสนและเบื่อหน่าย

เมื่อถามว่า ทั้ง สปท.และ สนช.ล้วนแต่เป็นเครื่องมือของ คสช. การออกมาเคลื่อนไหวที่สอดรับกันเช่นนี้เป็นการโยนหินถามทางหรือมีการตั้งธงล่วงหน้าหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เพราะมีแม่น้ำหลายสายไม่รู้ว่าน้ำมาจากไหนแน่ทำให้เกิดคำถามแบบนี้ จึงอยากให้จบเสียแล้วไปรวมที่จุดเดียว ซึ่ง ป.ย.ป.ต้องขอความร่วมมือจาก สปท.และ สนช.ให้ส่งข้อเสนอไปเพื่อกำหนดกรอบให้ครอบคลุมทั้งหมดเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งของสังคมในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น