xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.แจงเยือนพม่าผลักดันข้อตกลง HLC ถกต้านก่อการร้าย แก้ปัญหาพื้นที่ขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กเจี๊ยบ” เผยไปเยือนพม่าเพื่อผลักดันการดำเนินงานตามข้อตกลง HLC ถกแลกเปลี่ยนข้อมูลต้านก่อการร้าย รับเป็นเรื่องใกล้ตัว หวั่นไอเอสป่วน หารือแก้หมอกควัน พร้อมถกแก้ปัญหาในพื้นที่ขัดแย้ง ชี้มีเหตุทุกวันแต่ระดับพื้นที่แก้ปัญหาได้ ขอขยับฐานที่มั่นชนกลุ่มน้อยที่ใกล้ชายแดนเกินไป และให้รับส่งกลับผู้หนีภัยสู้รบ

วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ฝูงเครื่องบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) อย่างเป็นทางการ ว่าได้เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.แห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ พล.ท.โซวิน รอง ผบ.สส.และ ผบ.ทบ.พม่า โดยได้มีการหารือร่วมกันเพื่อผลักดันการดำเนินงานตามข้อตกลงคณะกรรมการระดับสูงไทย-พม่า (HLC) ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสองประเทศได้ลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ในเรื่องการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับกลาง การสร้างสัมพันธไมตรี ทั้งด้านกีฬา การลาดตระเวนร่วมกัน และการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า นอกจากนั้นยังได้หารือเรื่องการจัดกำลังร่วมลาดตระเวนตามลำน้ำเมย และความร่วมมือเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการกันมาตลอด ในปัจจุบันทั้งสองประเทศต่างมีความกังวลมาตลอดในเรื่องของการเข้ามาเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส ทั้งนี้ การพูดคุยก็เป็นไปตามกระแสข่าวที่เข้ามา ทางพม่าก็มีข่าวเหมือนกันว่าจะมีการเข้ามาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเข้ามาเตรียมการก่อการร้าย แต่หลักฐานและการลงรายละเอียดยังไม่มี การพูดคุยจึงเป็นลักษณะการสร้างมาตรการป้องกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในกรณีที่มีการแจ้งเตือน อย่างไรก็ตาม เราต่างก็ตระหนักว่าปัญหาการก่อการร้ายสากลเป็นเรื่องใกล้ตัว และไทยก็เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย เราก็มาเข้มงวดกวดขัน โดยทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในเรื่องนี้หลายครั้งโดยเฉพาะตามช่องทางต่างๆ ทางช่องทางผ่านแดนและสนามบิน

ผบ.ทบ.กล่าวว่า ยังได้หารือถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่จะเกิดปัญหาขึ้นในห้วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยสองกองทัพเห็นชอบร่วมกันที่จะสร้างระบบ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพื่อช่วยกันคลี่คลายปัญหา พร้อมทั้งหารือถึงความร่วมมือกันในโครงการปลูกป่าอาเซียน ทางพม่าเองก็เห็นด้วยและรณรงค์ให้มีการปลูกป่าเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้น้อยลง ทั้งนี้ ตนเดินทางไปครั้งแรกเห็นสภาพป่าไม้ที่พม่าค่อนข้างสมบูรณ์ แต่รัฐบาลก็ยังรณรงค์ให้ประชาชนเร่งปลูกป่า ก็เป็นอุทาหรณ์ให้เราซึ่งมีพื้นที่ป่าน้อยมากแค่ 32% ของพื้นที่ จึงต้องเร่งรัดในประเทศของเราให้มากที่สุด

ผบ.ทบ.กล่าวต่อว่า ยังได้หารือถึงความร่วมมือในแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่กรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นต้องมีสายตรงระหว่างหน่วยที่รับผิดชอบในพื้นที่ โดยประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค หรือ RBC ของทั้งสองประเทศ ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ท.วิจักษ์ สิริบรรณสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ร่วมคณะไปด้วย ได้พบหารือทำความรู้จักกับผู้รับผิดชอบฝั่งชายแดนไทย-พม่า เมื่อเกิดปัญหาจะได้มีการโทรศัพท์สายตรงถึงกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้จบภายในพื้นที่

"ในสถานการณ์ปัจจุบันคงไม่ต้องกำชับแม่ทัพภาคเป็นพิเศษ เพราะชายแดนไทย-พม่า 2,0401 กิโลเมตร มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แต่ที่สื่อมวลชนไม่มีข่าว หรือไม่เกิดความตระหนกตกใจเข้ามาสู่ส่วนกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ในคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า หรือ TBC เขาแก้ไขปัญหาได้ ปัญหาก็คลี่คลายไป แต่อาจจะมีอยู่บ้างกรณีที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่ก็คลี่คลายไปได้ในระดับพื้นที่ ยิ่งเวลานี้มีสายตรง ทุกอย่างก็ไม่ต้องมาถึงส่วนกลาง ระดับกองทัพ หรือรัฐบาลต้องมาคุยกัน ทั้งหมดยุติอยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าก็ยังมีอยู่ แต่เราพยายามพูดคุยและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวม" พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

ผบ.ทบ.กล่าวอีกว่า พม่าได้ขอส่งแพทย์เข้าร่วมกับโครงการศูนย์แพทย์อาเซียน โดยต้องการให้แพทย์ไทยถ่ายทอดเทคโนโลยีการรักษาโรคหัวใจ ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนั้นยังขอส่งผู้นำนายทหารระดับผู้พันในพื้นที่ตามแนวชายแดนด้านเหนือเข้ามาเรียนโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่โครงการพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ ที่โครงการนี้เราได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้วโดยกองทัพบกได้สนับสนุนงบประมาณและในปีนี้ก็จะดำเนินการตามที่ทางพม่าร้องขอให้เป็นรูปธรรม เขายังร้องขอให้เราสนับสนุนการสร้างสันติสุขในพม่า โดยเฉพาะการเจรจาของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่าให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาทางเราได้ดำเนินการไปแล้วและจะได้ดำเนินการต่อเนื่องไป”

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ในส่วนของไทยได้ร้องขอในเรื่องฐานที่มั่นตามแนวชายแดนของชนกลุ่มน้อยอยู่ในบางพื้นที่อาจใกล้ชายแดนก็ขอให้ขยับออกไปให้อยู่ในเกณฑ์ 500 เมตร เพื่อป้องกันกันเข้าใจผิด ที่ผ่านมาบางส่วนได้ดำเนินการและเริ่มถอยออกไปแล้วยังเหลืออีกเพียงบางส่วนที่อยู่ใกล้เกินไป ทางพม่ารับไปพิจารณา นอกจากนั้น เรายังขอให้พม่ารับการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่ในโครงการที่ 2-3 อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย.เป็นครั้งแรก ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 9 หมื่นกว่าคน จากจำนวน 7 ศูนย์ผู้หนีภัยจากการสู้รบ
กำลังโหลดความคิดเห็น