นายกรัฐมนตรี เผยน้ำท่วมใต้เริ่มคลี่คลาย เฝ้าระวังอากาศเปลี่ยน จ่อปรับปรุงการบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติใหม่หมด ชูผู้ว่าฯ แก้ปัญหาในพื้นที่ ชี้แผนงาน ป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เพิ่มป่าในภูเขา ขุดคลองเส้นใหม่ แก้ปมผังเมือง ลดความซ้ำซ้อนโครงสร้าง ขออย่าต่อต้าน ถ้าไม่โปร่งใสก็ร้องเรียนมา ยันมีการแจ้งเตือนภัยมาตลอด ยันใช้งบให้คุ้มค่า รับในหลวงทรงห่วงใย ให้ความช่วยเหลือผ่านทางรัฐบาล และของพระองค์เอง
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้เริ่มคลี่คลายในบางจังหวัด แต่บางจังหวัดยังคงสภาพอยู่ ทั้งนี้ต้องระวังเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ขั้นตอนเรื่องอุทกภัยขณะนี้อยู่ในระดับ 3 กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ มีรัฐบาลกำกับดูแล อย่างไรก็ตามได้ถือโอกาสการประชุมครั้งนี้ร้อยเรียงเรื่องต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน โดยริเริ่มปรับปรุงการบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติใหม่ทั้งหมด จัดโครงสร้างการทำงานให้ต่อเนื่องกัน มีความรับผิดชอบชัดเจนเป็นเอกภาพ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทุกส่วน รวบรวมความต้องการเพื่อนำเสนอ ส่วนการบูรณาการข้ามกระทรวงหรือหน่วยงาน มีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบการบูรณาการทั้งหมด ให้สามารถแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการป้องกันเตรียมการตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อมีพายุ ฝนตกมากขึ้น ความเสียหายก็จะน้อยลง แม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมด เพราะฝนตกมากเกินไป แต่เราต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ดังนั้นแผนงานจะต้องมีตั้งแต่ 1. ป้องกันเตรียมการ 2. การช่วยเหลือขณะเกิดเหตุ บรรเทาความเดือดร้อน เรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร จากนั้นจึงไปสู่การฟื้นฟู และวันนี้ได้ซ่อมบ้านไปแล้วหลายหลัง จากทหารของกระทรวงกลาโหม และนักศึกษาอาชีวะของกระทรวงศึกษาธิการ กว่า 600 ชุด ทั้งหมดจะต้องร้อยเรียงเข้าสู่ระบบให้ได้ และนำไปสู่แผนงานระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
“ปริมาณฝนที่มากนั้นห้ามไม่ได้ ส่วนน้ำที่ไหลลงจากเขา ต้องมีการฟื้นฟูป่าในภูเขา เป็นภาพใหญ่ที่ต้องทำ ส่วนจะได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ผ่านมาเราทำลายธรรมชาติมากเกินไป น้ำไหลบ่าลงมาข้างล่าง ส่วนการทำผนังกั้นน้ำในพื้นที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ย่านธุรกิจสำคัญ จะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้เริ่มขุดคลองเส้นใหม่ ดำเนินการโดยผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในตอนล่างได้มากขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือเรื่องผังเมือง ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทุกคนก็ไม่สนใจกฎหมายเท่าไหร่ วันนี้มีคนเดือดร้อน เราต้องดูว่าเราจะช่วยเหลือคนอย่างไร การช่วยเหลือคนต้องแก้ปัญหาระยะยาวด้วย เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมาย ตรงนี้ปัญหาคือมันไม่ถูกต้อง ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออยู่ไม่ได้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาให้กับเขา ปัญหามันซับซ้อนและไม่ง่าย แต่ก็จะต้องแก้ให้ดีที่สุด ตามแนวทางที่ในหลวงทรงห่วงใยเรานำมาสู่การปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำแนวทางของ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริไว้แล้ว ซึ่งมีหลายโครงการที่อยู่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมชลประทาน ที่จะมีการรื้อฟื้นแผนต่างๆ ขึ้นมาดำเนินการให้เสร็จ อาจมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ และเวลา แต่ก็ต้องทำต่อไป นี่คือความจำเป็นของยุทธศาสตร์ชาติ
นายกฯ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญวันนี้คือการลดความซ้ำซ้อน เราทำโครงสร้างแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งควรจะเป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราทำให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการปฏิบัติ และงบประมาณระยะสั้น ยาว และยั่งยืน ทั้งหมดต้องมีแผนหลัก และแผนรอง สิ่งเหล่านี้คือการทำงานของรัฐบาล ทุกงาน ทุกกระทรวงต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งอยู่ในเรื่องของยุทธศาสตร์ ในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องร้อยเรียงให้ได้แบบนี้ วันหน้าต้องมาบูรณาการกันทั้งงบแก้น้ำท่วม และงบต่างๆ ต้องมาทำร่วมกันในแผนงานเดียวกัน ขอให้ช่วยกัน อย่าต่อต้านรัฐบาลในเรื่องเหล่านี้ ตนหวังดี มีเจตนาดี แต่ถ้าไม่โปร่งใส ก็มาร้องเรียน ตนก็จะรับตรวจสอบให้ทั้งหมด วันนี้มีการกำชับในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องโปร่งใส ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับปรุงระบบแจ้งเตือนบางหน่วยงานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขามีการรายงานมาตลอด แม้น้ำยังไม่ท่วม กรมอุตนิยมวิทยาก็มีการรายงานมาตลอด มีหน่วยงานที่รายงานมาทุกวัน 24 ชั่วโมง มีการประชาสัมพันธ์ ขอให้ติดตามกันบ้าง ตนจำได้ว่าวันแรกที่ฝนจะตก ก็มีการแจ้งเตือนเรื่องปรากฏการณ์ลานีญาแล้ว ว่าฝนจะตก จะให้เตือนอย่างไร ไปเคาะประตูหน้าหรือ ฉะนั้นระบบมันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะเอามาใช้อย่างไร ซึ่งแนวทาของ รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งไว้แล้วว่าการทำงานของรัฐบาล ต้องมี 3 อย่าง 1. ปัญหาที่เกิดขึ้น 2. ข้อเท็จจริงคืออะไร เกิดจากอะไร และ 3. ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ว่ามันเกิดจากอะไร และไปหาข้อมูลในเชิงประจักษ์ นำมาผสมกัน จึงนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ ซึ่งวันนี้กำลังทำอย่างนี้ทั้งหมด
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวงท่านทรงห่วงใย และกำชับมาทุกเรื่อง วันนี้ท่านทรงให้มีความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพระองค์ และในส่วนขององคมนตรี ได้ลงมาตรวจเยี่ยมในจังหวัดที่มีความเดือดร้อน และมีการพูดคุยประสานกับรัฐบาลอยู่แล้ว เพื่อจะได้ช่วยกันในการที่จะนำความห่วงใย และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ลงมาถึงประชาชนด้วย ผ่านช่องทางของรัฐบาล และของพระองค์ท่านเอง” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งงบของกระทรวง งบของรัฐบาล และงบจากที่ได้รับบริจาค ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้อย่างคุ้มค่า และตรวจสอบได้ ไม่ซ้ำซ้อน ตรงนี้จะใช้แก้ปัญหาระยะสั้นก่อน ส่วนระยะยาวนั้นทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำลังทำอยู่ ซึ่งอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ รัฐบาลต้องนำงบประมาณมาผสมกัน งบที่ต้องทำใน 5-10 ปีข้างหน้ามาทำในปีนี้ เพราะสถานการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น บางอย่างเตรียมการได้ บางอย่างไม่ได้ ต้องมีการปรับแผน ตนต้องโยกงบตรงนั้นมาทำตรงนี้ให้สอดคล้องกัน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ทำไป 20 ปี ล้าหลังไป 20 ปี รัฐบาลนี้จะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้แสดงว่าไปดูกระถางบัว
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โษฆกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ กำชับการทำงานของทุกหน่วยงานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยนายกฯ จะเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเท่าสาธารณภัยแห่งชาติ แล้วส่งต่องานให้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจะกระจายงานไปยังจังหวัดต่างๆ หน่วยงานใดจะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนต้องประสานมายังกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่วนหน้าก่อน นายกฯยังได้สั่งการให้แบ่งงานการแก้ปัญหาเป็นสองส่วน คืองานที่ทำทันที เช่นการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน โรงเรียน การช่วยเหลือเกษตรกรสร้างอาชีพ สร้างพนังกั้นน้ำ โดยส่วนนี้สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณจะบูรณาการใช้งบประมาณ และงานระยะยาว คือการปรับปรุงพื้นที่ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำพบว่ามี 111 แห่งใน 12 จังหวัดภาคใต้ โดยจะปรับปรุงทั้งการทำสะพาน วางท่อระบายน้ำ ขุดคลองผันน้ำ ให้น้ำไหลลงทะเลได้เร็วขึ้นเช่น การขุดคลองท่าดี จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงฟื้นฟูป่าพรุควนเคร็ง พร้อมทั้งยังกำหนดให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนเผชิญเหตุและแผนสำรองรับมือสถานการณ์แบบทหาร การดำเนินการทุกขั้นตอนประชาชนต้องรับรู้และมีส่วนร่วม
พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ข้อมูลจนถึงขณะนี้จะมีการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 3,000 บาท ขยายเวลาชำระหนี้ 6 เดือน ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้กองทุนสังกัดกระทรวงเกษตรซึ่งมี 370,000 ราย ให้สินเชื่อด้านประมงในกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย การจ้างงานชลประทาน วันละ 300 บาทต่อวัน
ขณะที่การชดเชยความเสียหายพืชผลทางการเกษตร ข้าวจะมีการชดเชย 1,113-33,350 บาทต่อราย พืชไร่ 1,148-34,440 บาทต่อราย ไม้ผลและปาล์ม 1,690-50,700 บาทต่อราย ยางพารา 1,690-50,700 บาทต่อราย และทุนปลูกแทนไร่ละ 16,000 บาทต่อไร่ ปสุสัตว์ โคกระบือ 6,000-44,000 บาทต่อราย แพะ แกะ สุกร 1,000-30,000 บาทต่อราย สัตว์ปีก 20-80,000 บาทต่อราย ประมง ปลาทุกชนิด 4,224-21,125 บาทต่อราย กุ้ง ปู หอย 10,920-54,600 บาทต่อราย กระชังบ่อ 315-25,200 บาทต่อราย พร้อมทั้งจะมีการช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,000 บาทต่อครัวเรือน
ขณะที่ในส่วนกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงจะใช้งบประมาณการฟื้นฟูทางหลวงปรับปรุงสภาพผิวจราจร ก่อสร้างปรับปรุงสะพานที่เสียหาย ทำท่อลอด เป็นเงิน 2,739.77 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบทจะใช้งบฟื้นฟู 1,013.07 ล้านบาท รวมทั้งมีงบประมาณซ่อมแซมท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช 446.98 ล้านบาท เส้นทางรถไฟ 1,925.416 ล้านบาท รวมงบของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด 6,125.236 ล้านบาท