xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่ จับสินบนการบินไทย-ปตท.ลากคอตัวเป้งเข้าคุก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในเวลานี้ดูเหมือนกับว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตื่นตัวในการสืบเสาะ หรือเสาะหาหลักฐานการทุจริตรับสินบนในบริษัท การบินไทย จากการจัดซื้อเครื่องบินสำหรับใช้กับเครื่องบิน หลังจากที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับสารภาพ และยอมรับผิดยอมจ่ายเงินให้กับหน่วยงานตรวจสอบด้านการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) และหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และบราซิลรวมกว่า 617 ล้านปอนด์ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแลกกับการยุติคดีคอร์รัปชัน

ตามรายงานที่อ้างอิงจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ ยังระบุชัดอีกว่าบริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินสินบนผ่านนายหน้าในภูมิภาคในหลายประเทศนอกเหนือจากประเทศไทย เช่น จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย

โดยมีการตัดจ่ายให้กับผู้แทนของประเทศไทย และของบริษัท การบินไทย เพื่อแลกกับการตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์ ที 800 เพื่อสำหรับใช้ติดตั้งกับเครื่องบินของบริษัท การบินไทย

ขณะเดียวกัน สื่อของอังกฤษระบุว่า ระหว่างปี 2534 - 2548 บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินสินบนไปราว 1.3 พันล้านบาท เพื่อให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ถึงสามล็อต แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงปี 2534 - 2535 2. ช่วงปี 2536 - 2540 3. ช่วงปี 2547 - 2548 ทั้งนี้ จำนวนเงินสินบนดังกล่าวที่จ่ายให้กับนายหน้า และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องตามข่าวระบุตัวเลขว่า ประมาณ 1.25 พันล้านบาท นอกจากนี้ การจ่ายเงินสินบนยังพัวพันไปถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จำนวน 385 ล้านบาท

ล่าสุด มีรายงานว่า ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยาน และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย โดยมี สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ในคำสั่งกำหนดให้คณะทำงานชุดนี้ สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนและรวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณา หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ เลขาธิการ ป.ป.ช. มอบหมายโดยคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายก็ให้ข้อมูล ว่า เวลานี้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือข้อข้อมูลกับ ป.ป.ช. ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับเรื่องการจ่ายสินบนดังกล่าวแล้วคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะทราบเรื่อง ซึ่งเวลานี้อยู่ในช่วงของการตรวจสอบเอกสารยังไม่ไปถึงขั้นตรวจสอบว่าใครผิด

นอกเหนือจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีกทางหนึ่ง

แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า “เอาจริง” อีกไม่นานคงสามารถระบุ “คนรับสินบน” กระชากหน้ากากออกมาให้ชาวบ้านได้เห็นแน่ เชื่อว่า ชาวบ้านก็อยากให้เกิดขึ้นแบบนั้น แต่เดี๋ยวก่อนนั่นอาจเป็นแค่ความฝัน “ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง” และที่ผ่านมา เคยพิสูจน์ให้เห็นสักครั้งหรือไม่ว่า มีการจับกุม “ตัวการใหญ่”

เพราะความเป็นจริงในประเทศไทย ก็คือ ไม่เคยจับกุมระดับบิ๊ก หรือ “ตัวเป้งๆ” ได้สักครั้ง ที่ผ่านมา หากมีการจับกุม หรือเอาผิดก็เป็นเพียงแค่ระดับล่างๆ ที่เปรียบเทียบเป็น “ปลาซิวปลาสร้อย” เท่านั้น แต่สำหรับสินบนคราวนี้ตามรายงานล้วนเกี่ยวข้องกับระดับผู้บริหารทั้งสิ้นทั้งในบริษัท การบินไทย และอาจโยงไปถึงฝ่ายการเมืองตั้งแต่รัฐมนตรี เลขารัฐมนตรีไปจนถึงขั้นอดีตนายกรัฐมนตรีก็อาจเป็นไปได้ แต่นั่นก็ได้แค่คิดเท่านั้นไม่มีทางลากคอคนพวกนี้เข้าคุก หรือดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน

พิจารณาจากเหตุผลเริ่มแรกก่อนก็ได้ว่าเรื่องสินบนข้ามชาติที่ว่านี้ “เรื่องแดง” มาจากต่างประเทศ เกิดจากการสอบสวนของหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของอังกฤษ และสหรัฐฯ ที่ตรวจพบ และ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำนนต่อหลักฐาน และยอมจ่ายค่าปรับเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีคอร์รัปชัน ซึ่งสินบนที่ว่านั้นเริ่มจ่ายกันตั้งแต่ปี 34 - 48 ถึงสามช่วงเป็นเงินกว่า 1.2 พันล้านบาท สำหรับซื้อเครื่องยนต์อากาศยาน และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้กับอดีตผู้บริหาร ปตท. อีกว่า 380 ล้านบาท ที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่เคยระแคะระคายเลย

ที่ผ่านมา เราคงได้เห็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะคล้ายกัน คือ กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลก จีที 200 ที่ศาลอังกฤษสั่งจำคุกและยึดทรัพย์นักธุรกิจชาวอังกฤษที่ผลิตและขายเครื่องดังกล่าวไปแล้ว และที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ขึงขังตั้งคณะกรรมการสอบสวนแต่สุดท้ายเรื่องก็ค่อยเงียบหายไปอ้างว่าไม่ได้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล

หรืออีกกรณีหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ก็คือ กรณีของบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่มีการตรวจสอบพบว่าลักลอบขายสินค้าปลอดภาษีที่สนามบิน และทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯทำให้รัฐเสียหายมหาศาล แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการเอาผิดแต่อย่างใด ทุกอย่างยังเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงน่าจะนำไปสู่ความเชื่อที่ว่ากรณีของสินบนการบินไทย และ ปตท. หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่มีการเปิดเผยมาจากหน่วยงานกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่า มีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับการจัดซื้อสายเคเบิลและสายไฟฟ้า โดยการจ่ายสินบนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 53 - 55 ตามรายงานบอกว่า พาดพิงไปถึงผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลหน่วยงานไฟฟ้ารวมไปถึงผู้บริหารของการไฟฟ้าในยุคนั้น

แน่นอนว่า ตอนนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการกันยกใหญ่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไฟเขียวให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หน่วยงานทั้งการไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี มาถึงความจริงที่ว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วเราจะสามารถลาคอคนทุจริตออกมาให้เห็นได้หรือไม่ หรือว่านี่เป็นเพียงแค่ลดกระแสเป็นไปตามน้ำที่จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างในอดีตและบทบาทของ “ตัวเป้ง” ที่น่าจะพัวพันสินบน ในปัจจุบันคนพวกนี้ก็ยังทำงานใกล้ชิดกับบิ๊กในรัฐบาล ดังนั้น จึงมั่นใจว่าอีกไม่นานทุกอย่างก็จะค่อยๆ ซาไป !!
กำลังโหลดความคิดเห็น