อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ รับน้ำท่วมใต้ยังน่าห่วง จี้รัฐเยียวยาด่วน ตั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ ดีกว่าแจกทรานซิสเตอร์ เผย “อภิสิทธิ์” สั่งลูกพรรคเร่งลงพื้นที่แล้ว ด้าน อดีต ส.ส. ตรัง เสนอจังหวัดสำรวจเส้นทางระบายน้ำ ก่อนขุดขยายให้ไหลสะดวก ของบฉุกเฉินเพื่อขุดลอกแม่น้ำตรัง ขยายคลอง
วันนี้ (21 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน้ำท่วมภาคใต้ ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส เกิดน้ำท่วมหนัก ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะมีน้ำท่วมระลอกที่ 3 มาอีก ทั้งๆ ที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ 2 ยังไม่สามารถที่จะระบายน้ำได้หมด ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน เพราะในขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็หมดเรี่ยวแรง หรืองบประมาณที่จะนำไปใช้จ่ายบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมเฉพาะหน้านี้ได้ทัน และจากภาพข่าวที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า มีฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลันอย่างน่าหวาดกลัว ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับปรุงมาตรการการเตือนภัยที่ให้กับประชาชนรับมือกับเหตุการณ์อุทกภัยนี้ได้ทันท่วงที และอยากให้รัฐบาลตั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ เพื่อดำเนินการเตือนภัยให้กับประชาชนในทุกเหตุการณ์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
“หากรัฐบาลสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้าก่อนน้ำท่วมแล้ว ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทันท่วงทีในหลายช่องทาง ดีกว่าใช้วิธีการแจกวิทยุทรานซิสเตอร์ให้ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องล้าสมัย ขัดแย้งกับการขับเคลื่อนประเทศ สำหรับสถานการณ์ในหลายจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมขังในขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในนามประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้กำชับไปยังอดีต ส.ส. ของพรรค และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพรรค ให้เร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน” นายเทพไท กล่าว
ด้าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส. ตรัง กล่าวว่า จากที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง มีปริมาณฝนมากในภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากที่เริ่มท่วมในบางจังหวัดแล้ว ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้มีหนังสือเตือนภัยภาวะน้ำท่วม ดินถล่มแล้ว แต่ตนอยากเสนอให้ส่วนราชการ ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 2 เรื่อง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.ตรัง ระลอก 3 คือ 1. อยากให้มีการสำรวจเส้นทางการระบายน้ำ ของแม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน ว่า ติดขัดไหลไม่คล่องในจุดใดบ้าง หากพบให้เร่งรีบขุด ขยายเพื่อให้น้ำไหลสะดวก ระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่าง ที่สะพานแก้มดำ ต.ควนธานี อ.กันตัง มีการสร้างสะพานใหม่ ทุบสะพานคอนกรีตเก่าลงไปในแม่น้ำตรัง และสะพานเบี่ยงไม้ที่ปักลงไปในแม่น้ำ เป็นเสมือนเขื่อนกั้นการระบายน้ำ ถ้ารื้อแท่งคอนกรีต และสะพานเบี่ยงออก เชื่อว่า การระบายน้ำจะรวดเร็วขึ้น ลดภาวะท่วมขังได้แน่นอน และ 2. ของบฉุกเฉินเพื่อขุดลอกแม่น้ำตรังและขยายคลองลัดบริเวณ ต.ควนธานี ให้กว้างขึ้น เพื่อระบายน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากทางจังหวัดเร่งดำเนินการจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน