เมืองไทย 360 องศา
กรณีทุจริตการจ่ายสินบนกรณีการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่มาติดตั้งในเครื่องบินของบริษัท การบินไทย ที่ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมาในเวลานี้ หากพิจารณาแบบตั้งสติ มันก็ให้ข้อคิดอะไรบางอย่างประกอบขึ้นมาเหมือนกัน นั่นคือ “เรื่องแดง” ขึ้นมาจากต่างประเทศ ที่มีการ “ตรวจสอบการทุจริตจากประเทศต้นทาง” จนทำให้บริษัทจำนนต่อหลักฐาน และยอมสารภาพยอมรับผิดเพื่อแลกกับเงื่อนไขยุติการถูกดำเนินคดีอาญา
แน่นอนว่า จากเรื่องดังกล่าวทำให้สายตาจับจ้องไปที่บริษัท การบินไทย อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้มีเรื่องอื้อฉาวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนประสบกับภาวะขาดทุนบักโบรก จนต้องมีแผนฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน แม้ว่าในยุคปัจจุบันผลประกอบการและการบริหารงานอาจจะดูดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังคาดหวังอะไรไม่ได้มากนัก
น่าสนใจตรงที่บริษัท โรลส์-รอยซ์ ดังกล่าว ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอังกฤษเป็นที่รู้จักทั่วโลกได้ออกมายอมรับผิด และขอโทษเพื่อแลกกับการยุติคดีทุจริตคอร์รัปชันในประเทศอังกฤษ แต่ต้องแลกกับการยอมจ่ายค่าปรับมากกว่า 617 ล้านปอนด์ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็นต้องจ่ายค่าปรับให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอังกฤษ เช่น จำนวน 497 ล้านปอนด์ และต้องจ่ายค่าปรับให้กับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และบราซิล อีกราว 141 ล้านปอนด์
สังเกตหรือไม่ว่านี่เป็นรายงานข่าวที่มาจากต่างประเทศ มาจากหน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริตจาก “ประเทศต้นทาง” คือ อังกฤษ รวมไปถึงการยอมรับสารภาพออกมาจากผู้กระทำผิด แม้ว่าจะแลกกับเงื่อนไขบางอย่างก็ตาม อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าเรื่องราวจะยุติง่ายๆ เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ย้ำว่ากำลังมีการพิจารณาดำเนินคดีอาญากับบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันในครั้งนี้อยู่
ตามรายงานที่อ้างอิงจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ ยังระบุชัดอีกว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินสินบนผ่านนายหน้าในภูมิภาคในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย
โดยมีการตัดจ่ายให้กับผู้แทนของประเทศไทย และของบริษัท การบินไทย เพื่อแลกกับการตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์ ที 800 เพื่อสำหรับใช้ติดตั้งกับเครื่องบินของบริษัท การบินไทย
ขณะเดียวกัน สื่อของอังกฤษระบุว่า ระหว่างปี 2534 - 2548 บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินสินบนไปราว 1.3 พันล้านบาท เพื่อให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ถึงสามล็อต
แน่นอนว่า เรื่องนี้สำหรับบริษัท การบินไทย ก็ต้อง “เต้นผาง” นั่งไม่ติด มีการประชุมผู้บริหารทันทีในวันรุ่งขึ้น หลังจากมีรายงานข่าวจากต่างประเทศ จรัมพร โชติกเสถียร ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ย้ำว่า มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้เหมือนกัน โดย ปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้ มีการพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว และให้มีการขอข้อมูลไปยังบริษัท การบินไทย และให้รายงานกลับมาโดยด่วน เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าบางกรณีใกล้ขาดอายุความหรือขาดอายุความไปแล้ว
“เบื้องต้นเท่าที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทราบว่า มีการจัดซื้อเครื่องยนต์แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1. ช่วงปี 2534 - 2535 ซึ่งหมดอายุความไปแล้ว คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ 2. ช่วงปี 2536 - 2540 มีบางช่วงใกล้จะหมดอายุความ 20 ปี จึงต้องเร่งดำเนินการให้ทันอายุความ 3. ช่วงปี 2547 - 2548 ที่ยังไม่หมดอายุความ แต่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป”
นั่นก็หมายความคนที่รับสินบนในช่วงปี 34 - 35 ซึ่งเป็นช่วงจัดซื้อล็อตแรกคงลอยนวล เพราะหมดอายุความ แต่อีกสองช่วงที่เหลือก็ใช่ว่าจะลากคอมาดำเนินคดีหรือเข้าคุกได้ เพราะถึงตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะหาหลักฐานมัดตัวได้หรือไม่
นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับคนในประเทศไทย แต่กลายเป็นว่าคนไทยแทบทั้งหมดไม่เคยรับรู้ หรือรู้แต่ไม่สามารถหา “ใบเสร็จ” ที่พิสูจน์ความผิดแบบนี้ได้เลย หากยกเอาเฉพาะกรณีของบริษัท การบินไทย แน่นอนว่า หากพิจารณากันแบบ “หยาบๆ” ก็ต้องเชื่อได้ว่าต้องมีการทุจริตกันอย่างมากมายแน่นอนไม่เช่นนั้นผลประกอบการก่อนหน้านี้คงไม่เละเทะจนต้องเร่งฟื้นฟูกันขนานใหญ่ แต่คำถามก็คือรู้แล้วทำไม หรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
กรณีการทุจริตแบบนี้ แบบที่รับรู้เรื่องสินบนการบินไทยแบบนี้หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 59 ศาลอังกฤษได้สั่งยึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก จีที 200 จำนวน 395 ล้านบาทหลังจากก่อนหน้านี้ได้สั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี
ทั้งสองกรณีดังกล่าวมีข้อสังเกต ก็คือ เป็นการลงโทษและสืบสวนมาจากต่างประเทศที่เป็นต้นทางและมีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตติดสินบนที่ครอบคลุมไปถึงการติดสินบนในต่างประเทศด้วย และหากให้ยกตัวอย่างกรณีของการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ที่ในที่สุดเรื่องก็ค่อยๆ เงียบลงไป เพราะไม่สามารถดำเนินคดี หรือเอาผิดกับใครได้ แม้ว่าที่ผ่านมาทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพยายามตรวจสอบเรื่องนี้แต่ก็ไม่คืบหน้าอ้างว่าไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ และทุกอย่างก็หายเข้ากลีบเมฆเลือนหายไป
สำหรับกรณีสินบนของบริษัท การบินไทย ครั้งนี้ ก็คงมาอีหรอบเดียวกันคงขึงขังไปตามกระแสตามแรงกดดันชั่วครั้งชั่วคราว เพราะต้องได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลในแบบเดิมอีก ขณะเดียวกัน ก็คงได้แต่มองตาปริบๆ เพราะอย่างที่บอกก็มีบางช่วง คือ ในช่วงที่ 1 ตั้งแต่ปี 34 - 35 ที่มีการจัดซื้อล็อตแรกทาง ป.ป.ช. บอกว่า หมดอายุความไปแล้วก็ “ลอยนวล” ส่วนช่วงที่สอง คือ ปี 36 - 40 ก็ใกล้หมดอายุความเต็มทีแล้วก็มีโอกาสหลุดอีก
ดังนั้น หากพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้วแม้ไม่อยากพูดไปล่วงหน้าแต่โอกาสที่จะนำตัวผู้กระทำผิด หรือมีการ “สารภาพผิด” แบบต่างประเทศคงเกิดขึ้นได้ยาก และที่สำคัญ ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบทุจริตในบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอหากพิจารณาจากกรณีของสินบนซื้อเครื่องยนต์ของการบินไทย และเครื่อง จีที 200 ที่การรับรู้ความจริงหรือ “เรื่องแดง” มาจากภายนอก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นถึงความ “ด้อยพัฒนา” ในกระบวนการตรวจสอบอยู่ดี !!