หัวหน้าประชาธิปัตย์ ยินดีให้ความเห็นกับ กก.ปรองดอง เตือนอย่าปักใจต้องจบลงรูปแบบไหน อย่ายึดต้องเซ็นข้อตกลง ชี้เป็นหลักประกันได้ยาก ยันปัญหาไม่ได้เกิดจากผลการเลือกตั้ง ถ้าไม่เข้าใจจะหลงทาง สรุปบทเรียนให้ถูก อย่ามองขัดแย้งระหว่างคนหรือพรรค แนะนิรโทษกรรมเฉพาะปมมาม็อบแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษ หนุนเปิดใจแล้วสร้างบรรทัดฐานร่วม
วันนี้ (19 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมหารือกับทุกพรรคการเมืองและฝ่ายต่างๆ เพื่อขอความคิดเกี่ยวกับแนวทางปรองดองว่า คงไม่ได้เรียกคุยพร้อมกัน แต่เป็นการรับฟังความเห็น ซึ่งตนยินดีให้ความเห็น ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองว่าเป็นอย่างไร โดยจากนั้นกรรมการต้องพิจารณาเพื่อประมวลความเห็นแต่ละฝ่ายเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไปได้ แต่อย่าปักใจว่าต้องจบลงด้วยวิธีการรูปแบบไหนอย่างไร เช่น ที่พูดว่าจะมีการลงนามร่วมกัน ก็ขออย่ายึดติดตรงนั้น โดยอยากให้การปรองดองเป็นเรื่องคิดถึงอนาคตมากกว่าอดีต คือต้องเรียนรู้จากอดีตเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในอนาคต เพราะความแตกต่างหรือความขัดแย้งไม่มีทางหมดไป ในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ต้องทำให้ความต่างทางความคิดหรือความขัดแย้งไม่นำไปสู่การใช้วิธีนอกกฎหมายหรือความรุนแรง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องตามให้ทัน เช่น ในอดีตวิทยุชุมชนอาจเป็นปัญหา แต่ยุคต่อไปเป็นอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมองไปข้างหน้า และต้องสรุปบทเรียนให้ถูก อย่ามองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างพรรคการเมือง เพราะรากฐานความขัดแย้งรอบล่าสุดเกิดจากกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองทะเลาะกัน ถ้าสรุปผิดคิดว่าพรรคการเมืองทะเลาะกัน เอามาคุยกันเพื่อให้เลิกราต่อกันแล้วจะไม่มีความขัดแย้งในอนาคต ก็จะหลงทาง
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การปรองดองอยากให้มองอนาคต ส่วนเรื่องอดีตก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษ ควรจะนิรโทษกรรมไปเลย ส่วนกรณีอื่นๆ ให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ซึ่งหากทำเช่นนี้ ก็จะได้ข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะได้ข้อสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และเป็นการยืนยันว่าการทำผิดกฎหมายหรือใช้ความรุนแรงต้องมีความรับผิดชอบ จากนั้นจะมีช่องทางอภัยโทษอย่างไร ก็มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว หากรัฐบาลทำด้วยเหตุผลแบบนี้ ก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จ
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ระบุว่า หลักจากพูดคุยแล้วจะให้มีการลงนามเพื่อเป็นข้อตกลงก่อนการเลือกตั้งนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ทราบว่าข้อตกลงจะมีเนื้อหาอย่างไร แต่ย้ำว่าลำพังมีเอกสารและคนร่วมลงนามจะเป็นหลักประกันได้ยาก เพราะคนที่ไปลงนาม จะยืนยันได้อย่างไรว่าประชาชนที่เกี่ยวข้องจะเห็นเหมือนกับตนเอง แม้แต่พรรคการเมืองซึ่งในขณะนี้บอกว่าต้องปฏิรูปให้เป็นเรื่องของสมาชิก แต่การจะให้หัวหน้าพรรคและผู้บริหารไปลงนามโดยต้องผูกมัดสมาชิกก็จะเป็นไปได้ยาก แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง แต่อยากให้ประสบผลสำเร็จ แต่ต้องไม่ยึดรูปแบบดังกล่าว เพราะจะทำให้ไม่สำเร็จ จึงอยากให้พูดถึงประเด็นที่อาจเกิดความขัดแย้งในอนาคตอย่างเปิดใจ แล้วสร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่า การทำงานทางการเมืองจะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยความขัดแย้งแบบเดิม ทั้งนี้ ยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเข้าใจว่าเรื่องความปรองดองยังเป็นข้อกังวลใจของประชาชน และจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการคุยกัน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ แต่ตนยินดีที่จะทำในสิ่งที่ไม่ผิดหลักการ
“จะเอาเรื่องปรองดองไปผูกว่าต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยบอกว่าพรรคการเมืองอยากมีการเลือกตั้งก็ต้องมาจากการลงกันคงไม่ได้ เพราะต้องอยู่กับความถูกต้อง ผมคนหนึ่งถ้าบอกว่าไม่ตกลงเลือกตั้งไม่ได้ แล้วจะให้ตกลงในสิ่งที่ไม่สมควร ผมก็ตกลงด้วยไม่ได้ จึงต้องว่าด้วยเหตุผล เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ส่วนที่นายกฯ ห่วงใยว่าอะไรจะเป็นหลักประกันว่าเลือกตั้งจะไม่กลับมาตีกัน ผมอยากให้ย้อนกลับไปดู เพราะไม่ได้ตีกันจากผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นปี 2550 หรือปี 2554 แต่มีเงื่อนไขอื่นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ถ้าตีโจทย์ว่าขัดแย้งจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่ตรงกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะแม้แต่ คสช. บางฝ่ายก็บอกว่าเป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ คสช.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน มิเช่นนั้นจะหลงทาง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ควรรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง จึงจะนำไปสู่การปรองดองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะมีแนวทางการศึกษาเดิมที่สรุปและเสนอมาแล้ว แต่บางเรื่องไม่เป็นที่ยอมรับ จึงนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์และกำหนดหลักการแก้ไข โดยยึดแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าจำเป็นที่จะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ไม่หลงทาง ส่วนข้อเสนอปรองดองของคณะกรรมาธิการ สปท.ด้านการเมือง ที่มีนานเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ที่มีแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติคดีทางการเมืองนั้น ตนได้คุยกับนายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเป็น สปท. อยู่ด้วย ทราบว่ามี สปท. หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ พร้อมย้อนถามว่าจะเป็นนิรโทษกรรม 4.0 หรือ ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่ จึงอยากให้มองไปข้างหน้า อย่ากังวลกับเรื่องในอดีตแล้วคิดว่าจะทำให้บางคนพอใจ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาสังคม แต่อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต โดยต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม อย่าไปให้น้ำหนักข้อเสนอที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
อดีตนายกรัฐมนตรียังเตือนรัฐบาลเกี่ยวกับการงานโยบายทางเศรษฐกิจว่า มุมมองเกี่ยวกับการพัฒนา หากมองในโครงสร้างเก่า ทั้งที่โครงสร้างเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปฏิกิริยาความขัดแย้งจากผลของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่ในขณะนี้การพัฒนาพูดถึงแต่โครงการขนาดใหญ่ จึงมีคำถามว่าแล้วคนส่วนใหญ่อยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันทั่วโลกจะมองข้ามไม่ได้ เพราะจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ภาครัฐไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ท้องถิ่นและกลุ่มคนที่มีความห่วงใย เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมกับยกตัวอย่างการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หากไม่มองมิติเหล่านี้ก็จะเป็นจุดสร้างความขัดแย้งใหม่ เหมือนที่เคยมีบทเรียนจากกรณีมาบตาพุตมาแล้ว