“กรมกร๊วก” ฝัน! แบ่งเค้กภาษีบาป 2 พันล้าน บริหารทีวีดิจิตอล เหมือน 3 กองทุน หลัง “รมต.ออมสิน” ให้นโยบายเตรียมเสนอแก้กฎหมายแบ่งเงินภาษีเหล้าบุหรี่ เหมือน “สสส.- ไทยพีบีเอส - กองทุนกีฬาฯ” อ้าง กรมประชาสัมพันธ์ งบประมาณน้อย ต้องเร่งโครงข่ายทีวีดิจิตอล จ่อให้ประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อสาธารณะ สามารถโฆษณาและบริการธุรกิจได้เช่นเดียวกับช่อง 5 แต่ไม่มี “ละครน้ำเน่า”
วันนี้ (16 ม.ค.) มีรายงานจากกรมประชาสัมพันธ์ ว่า เมื่อช่วงเช้า นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับกรมประชาสัมพันธ์ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐของกรมประชาสัมพันธ์
นายออมสิน ระบุว่า ได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ไปจัดทำแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน เพื่อเสนอขอแก้ไขข้อกฎหมาย ให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อสาธารณะที่สามารถโฆษณา และบริการธุรกิจได้เช่นเดียวกับช่อง 5 พร้อมทั้งขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากเงินภาษีสุรา ยาสูบ หรือ ภาษีบาป (Earmarked Tax) จากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ได้จากโรงงานยาสูบเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณที่กรมประชาสัมพันธ์ได้รับมีจำนวนน้อยมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
“ช่อง 11 จะต้องเป็นทีวีสาธารณะ สามารถบริการโฆษณาได้ นอกจากนั้น ยังสามารถบริการธุรกิจ แต่ไม่ถึงกับต้องมีละคร” นายออมสิน ระบุตอนหนึ่ง
ขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ยังต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากอนาล็อก สู่ดิจิตอล และจัดทำโครงข่ายให้ครอบคลุมตามที่ กสทช. ระบุ เพราะเป็นรากฐานของการพัฒนาสื่อโทรทัศน์ ส่วน NBT เร็วๆ นี้ ก็จะมีการปรับรูปแบบรายการ และการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้น่าสนใจขึ้น โดยประสานส่วนราชการ หรือกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมผลิตรายการ และให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
**เตรียมชง กสทช.ขอเพิ่มช่องสาธารณะรองรับอาเซียน
ทั้งนี้ ยังให้ข้อเสนอแนะกรมประชาสัมพันธ์ด้วยว่า ควรใช้สื่ออย่างหลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่วิทยุ หรือโทรทัศน์เท่านั้น เพราะขณะนี้สื่อออนไลน์เข้าไปมีบทบาทกับวิถีชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ในการประชุมมอบนโยบายดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์ยังเสนอจะดำเนินการขอช่องทีวีบริการสาธารณะจาก กสทช. อีก 1 ช่อง เพื่อดำเนินการสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของกรมประชาสัมพันธ์ หรือ NBT WORLD ให้เป็นช่องที่ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาต่างประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกภาษาต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ และ ภาษาอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน เพื่อเป็นช่องทางให้คนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน
**กรมกร๊วก ขอแบ่งเค้ก 2 พันล้าน ในภาษีบาป 2% กับ 3 กองทุน
มีรายงานว่า ปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ ได้งบประมาณผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยพบว่า ในปี 2558 สำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2558 ที่กรมประชาสัมพันธ์ได้รับ จำนวน 3,051,040,900 บาท ขณะที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวนทั้งสิ้น 2,847,225,100 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับเงินภาษีบาป (Earmarked Tax) จากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีเหล้าบุหรี่ปีละ 2% ที่ตกเป็นเงิน 2 พันล้านต่อปี โดยประมาณการด้านการรณรงค์ จัดแคมเปญ และ ประชาสัมพันธ์ สสส. ใช้เพียงประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สทท.) ปัจจุบันก็ได้รับเงิบภาษีบาป 2% หรือ 2 พันล้านบาทเศษเช่นเดียวกัน ขณะที่กองทุนกีฬา ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้วงการกีฬาได้รับงบประมาณจากการเรียกเก็บภาษีสุรา และยาสูบ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3,700 ล้านบาทต่อปี ผ่านมายังกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากมีการแก้กฎหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ได้งบประมาณจากภาษีบาป ก็จะเป็นองค์กรที่ 4 ต่อจาก สสส. ไทยพีบีเอส และ กองทุนพัฒนากีฬา
**ชง ครม.ขอหลายพันล้านพัฒนาทีวีดิจิตอล
มีรายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่กำกับกรมประชาสัมพันธ์ และช่อง 11 ได้เสนอ ครม. ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเพิ่มรายการลงทุน และวงเงินลงทุนร่วมโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ แต่ต่อมาได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2557 - 2559 กรมประชาสัมพันธ์ได้ใช้งบประมาณลงทุนโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือ ทีวีดิจิตอล ตลอด 3 ปี รวม 3,700 ล้านบาท
พบว่า งบประมาณปี 2557 ได้ จำนวน 980 ล้านบาท เพื่อลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 18 สถานีส่งหลัก ครอบคลุมครัวเรือนทั่วประเทศ 50%
ส่วนปี 2558 ลงทุนเพิ่มอีก 1,250 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณอีก 21 สถานีส่งหลัก หรือครบทั้ง 39 สถานีส่งหลักทั่วประเทศ
ขณะที่ งบประมาณปี 2559 ติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณในสถานีส่งเสริม 114 สถานี
ขณะที่มีต้นทุนการให้บริการคงที่ ประกอบด้วย ค่าเช่าสิ่งอำนวยความสะดวก (สถานีส่งสัญญาณ) รวม 39 ล้านบาท/ปี, ค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม 60 ล้านบาท/ปี และค่าเช่าโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก 20 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ จะมีรายได้จากการให้บริการเช่าช่องทีวีดิจิตอลเอสดี เดือนละ 4.5 ล้านบาท และช่องเอชดี เดือนละ 13 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ มี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้ชำนาญการกองทัพบก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี