เปิดผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาฉบับใหม่ สกัดพื้นที่อุตสาหกรรมหนัก กำหนดกว่า 100 ประเภท/ชนิดของโรงงาน “ห้ามประกอบกิจการ” เน้นอนุรักษ์วิถีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่น ชัดๆ “กำหนดสีฟ้า” ใช้เป็นที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม “ชายฝั่งทะเล อ.จะนะ” ให้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือ
วันนี้ (13 ม.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงมหาดไทย ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และ มาตรา 26วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ดูรายละเอียดฉบับเต็ม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/004/1.PDF
ข้อ 1 ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่จังหวัดสงขลา ภายในแนวเขตตามแผนที่ ท้ายกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่พื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตดังต่อไปนี้ ให้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของที่ดินนั้นๆ ตามที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ โดยไม่อยู่ในบังคับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
(1) เขตพระราชฐาน (2) พื้นที่ที่ได้ใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร (3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย (4) ท้องที่ที่มีการประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองหรือผังเมืองรวมชุมชน (5) ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เฉพาะที่ดินที่เป็นของรัฐหรือที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดิน
ข้อ 2 การวางและจัดทำผังเมืองรวมตามกฎกระทรวงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมในบริเวณแนวเขต ตามข้อ 1 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ
ข้อ 3 ผังเมืองรวมตามกฎกระทรวงนี้ มีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่ง และบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับ การขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ส่งเสริมและพัฒนาให้จังหวัดสงขลาใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) ส่งเสริมให้ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเป็นกรอบในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในผังเมืองรวมระดับต่างๆ ในจังหวัดสงขลา และการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 3) อนุรักษ์และพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์และยั่งยืน สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของท้องถิ่น และนโยบายแห่งรัฐ
ข้อ 4 การใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตผังเมืองรวมให้เป็นไปตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท และรายการประกอบแผนผังท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5 การใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนก ประเภทท้ายกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินในบริเวณหมายเลข 1.1 ถึงหมายเลข 1.16 ที่กำหนดไว้เป็นสีชมพู ให้เป็นที่ดิน ประเภทชุมชน (2) ที่ดินในบริเวณหมายเลข 2 ที่กำหนดไว้เป็นสีม่วง ให้เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และคลังสินค้า (3) ที่ดินในบริเวณหมายเลข 3.1 ถึงหมายเลข 3.18 ที่กำหนดไว้เป็นสีเขียว ให้เป็นที่ดิน ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (4) ที่ดินในบริเวณหมายเลข 4.1 ถึงหมายเลข 4.24 ที่กำหนดไว้เป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นทแยงสีขาว ให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ (5) ที่ดินในบริเวณหมายเลข 5.1 ถึงหมายเลข 5.5 ที่กำหนดไว้เป็นสีฟ้า ให้เป็นที่ดิน ประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ข้อ 6 ที่ดินประเภทชุมชน ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ดำเนินการหรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกท้ายกฎกระทรวงนี้ (2) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สาม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย
(3) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ สถานที่ บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงเก็บ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (4) การประกอบพาณิชยกรรมประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ เว้นแต่ที่ดิน ในบริเวณหมายเลข 1.8 (5) เลี้ยงงู จระเข้ หรือสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า (6) การกำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ที่ดินประเภทนี้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ข้อ 7 ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม คลังสินค้า ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ข้อ 8 ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การอยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ดำเนินการ หรือประกอบกิจการได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ เว้นแต่ที่ดินในบริเวณหมายเลข 3.7 หมายเลข 3.14 หมายเลข 3.17 และหมายเลข 3.18 ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกท้ายกฎกระทรวงนี้ (2) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สาม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย
(3) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเหลียมเหลวประเภทโรงเก็บ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (4) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (5) จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม (6) จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม (7) จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (8) การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ (9) การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด
ที่ดินประเภทนี้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ข้อ 9 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแล รักษาหรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ที่ดินประเภทนี้ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การอยู่อาศัย การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น และห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้ (1) จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรม (2) จัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม (3) จัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (4) การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ (5) การอยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม
ข้อ 10 ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การประมง ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น
ข้อ 11 ที่ดินในเขตโบราณสถาน ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ข้อ 12 ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือการประกอบกิจการ ในเขตผังเมืองรวมปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่จังหวัดสงขลา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้อง หรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง และโดยที่มาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า การใช้บังคับผังเมืองรวมให้กระทำโดยกฎกระทรวง
มีรายงานว่า ผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเป็นนโยบายและมาตรการที่จะประกาศเป็นกฎหมายใช้สนับสนุนและควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยครอบคลุมการใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภค และการบริการสาธารณะในท้องที่ จ.สงขลา เพื่อให้การขยายตัวของเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่อาศัย สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยร่างผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่นำมาให้ประชาชนร่วมกันแสดงความคิดเห็นนั้น แบ่งพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.) สีชมพู หมายถึง ที่ดินประเภทชุมชน อนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรกรรม สถาบันราชการ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา หรือประกอบกิจกรรมอื่นได้ในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูงเกิน 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 ตร.ม. แต่ไม่เกิน 2,000 เมตร
มีทั้งสิ้น 17 บริเวณ ได้แก่ เขตผังเมืองรวมตามกฎหมาย 9 แห่ง คือ 1) ผังเมืองรวมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2) ผังเมืองรวมสงขลา 3) ผังเมืองรวมหาดใหญ่ 4) ผังเมืองรวมสะเดา 5) ผังเมืองรวมพะตง-พังลา 6) ผังเมืองรวมระโนด 7) ผังเมืองรวมกำแพงเพชร-นาสีทอง 8) ผังเมืองรวมปาดังเบซาร์ 9) ผังเมืองรวมบ้านประกอบ และเขตเทศบาลตำบลที่ยกฐานะจากสุขาภิบาลเดิม จำนวน 8 แห่ง คือ 10) เทศบาลตำบลบ่อตรุ 11) เทศบาลตำบลจะทิ้งพระ 12) เทศบาลตำบลควนเนียง13) เทศบาลตำบลจะนะ 14) เทศบาลตำบลนาทวี15) เทศบาลตำบลปริก 16) เทศบาลตำบลสะบ้าย้อย 17) เทศบาลตำบลเทพา
สำหรับพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อไปนี้ (1) โรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท (2) โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทุกขนาด เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม (3) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (Central Waste Treatment Plant) ทุกขนาด เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน ลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย (6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงเก็บ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (7) เลี้ยงงู จระเข้ หรือสัตว์ป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเพื่อการค้า (8) กำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
2.) สีเขียว หมายถึง พื้นที่ประเภทชนบท และเกษตรกรรม ให้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถานที่ราชการ หรือเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ใช่อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ที่ดินเพื่อกิจการต่อไปนี้ (1) โรงงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการคุ้มครอง ความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552 (2) โรงงานลำดับที่ 88 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม และโรงไฟฟ้าชีวมวล (3) โรงานลำดับที่ 101 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน และโรงงานกำจัดมูลฝอย (4) โรงงานประเภทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่ไม่มีระบบวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (5) คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมันลักษณะที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการจำหน่าย (6) คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงบรรจุ สถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทห้องบรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทโรงเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
3.) สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว หมายถึง ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครอง ดูแล รักษา หรือบำรุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเท่านั้น ได้แก่ พื้นที่ป่าตามกฎหมายทุกประเภท ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ
ที่ดินประเภทนี้ ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์เท่านั้นและที่ดินตามวรรคนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้(1) การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (2) การอยู่อาศัยประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ (3) การอยู่อาศัยประเภทห้องชุด อาคารชุด หอพัก หรืออาคารอยู่อาศัยรวม
4.) สีฟ้า หมายถึง ที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ท่าเรือ การประมง สถาบันราชการ หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น ได้แก่ พื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา และริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นชายฝั่งทะเล อ.จะนะ ให้ใช้ประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่อนุญาตให้สร้างท่าเรือ