xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ย้ำรถตู้ขนส่งหมดปี 62 ใช้ ม.44 แก้ปัญหาด่วน รับนายกฯห่วงนักโทษก่อคดีซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ แจง ออก กม. แก้ปัญหารถโดยสารสาธารณะอาจล่าช้า จึงใช้ ม.44 ไปก่อนบางเรื่อง ให้หน่วยเกี่ยวข้องเสนอเรื่องเร่งด่วน ย้ำ รถตู้ขนส่งจะหมดในปี 62 ชี้ จะโบ้ยอภัยโทษต้นเหตุอดีตนักโทษก่อคดีซ้ำไม่ได้ รับนายกฯห่วงมาก สั่งติดตามดูแล เผยใช้ ม.44 จัดระเบียบไม่ใช้ประหารชีวิต

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงคมนาคม เสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหารถตู้สาธารณะที่ขับเร็ว และบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน จนเกิดอุบัติเหตุเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ว่า การแก้ปัญหานี้เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เกิดจากกรณีอุบัติเหตุรถกระบะชนกับรถตู้จนมีผู้เสียชีวิต 25 คนเพียงอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. การจราจรทางบก ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว อีกทั้งมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการจราจรทางบก ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เสนอมาตรการต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ต.ค. 2559 หลายอย่างต้องออกกฎหมายอาจล่าช้า เมื่อเกิดเหตุรถตู้ชนรถกระบะขึ้น นายกฯจึงสั่งการว่า มาตรการต่างๆ ต้องใช้เวลา อาจมีอุบัติเหตุขึ้นได้อีกในช่วงวันหยุดยาว จึงให้ดึงเอาบางเรื่องมาใช้มาตรา 44 ออกไปพลางก่อน ส่วนกฎหมายก็แก้กันไป เสร็จเมื่อไร มาตรา 44 เรื่องนี้ก็หมดไป

“เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ผมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก สตช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยยกกรณีอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นข้อบกพร่องซึ่งเคยพิจารณากันมาแล้ว เช่น การใช้รถ สภาพรถ ความเร็ว คุณภาพผู้ขับขี่ ผมจึงให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาข้อเร่งด่วนแล้วให้เสนอมาที่ผมเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนอะไรที่ต้องเสนอต่อสภาก็ให้ดำเนินการไป สำหรับรถตู้ที่เกิดเหตุนั้น ถือเป็นรถที่มีสภาพไม่เหมาะสมเป็นรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีใช้อยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำข้อมูลมาแสดงให้ดูในที่ประชุม ซึ่งเห็นว่า มีปัญหาที่ตัวรถ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าอะไรที่ใช้กฎหมายปกติได้ก็ทำไป อะไรที่เร่งด่วนก็จะใช้มาตรา 44 ไปพลางก่อน” รองนายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ในอนาคตจะไม่มีการใช้รถตู้เพื่อให้บริการขนส่งสาธารณะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ละหน่วยงานมีมาตรการของเขาอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น เรื่องนีได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีไปแล้วด้วยซ้ำว่ารถตู้ขนส่งสาธารณะจะหมดไปในปี 2562 เพราะสภาพไม่เหมาะกับการขนส่งสาธารณะ

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนเรียกร้องให้ใช้ ม.44 มาเป็นมาตรการป้องกันนักโทษที่พ้นจากคุกมาแล้ว ไม่ให้ก่อเหตุซ้ำอีก หลังมีการเผยแพร่คลิปเหตุคนร้ายฆ่าชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือ บัณฑิต มศว เมื่อกลางดึกวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่า เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเสมอ จะโทษว่าต้นเหตุเกิดจากการได้รับอภัยโทษคงไม่ได้ เพราะมีหลายสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุ ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นห่วงมาก โดยเฉพาะเรื่องการดูแลนักโทษ เพราะการได้รับอภัยโทษแต่ละครั้งนั้น จะมีจำนวนมาก โดยได้สั่งการให้ติดตามดูแล ให้กระทรวงแรงงานจัดหางานให้ผู้พ้นโทษทำ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเรื่องสวัสดิการ กระทรงยุติธรรม ดูแลเรื่องการคุมความประพฤติ ฯลฯ

“แต่การที่กลับมาก่อเหตุซ้ำก็มีหลายอย่าง จะบอกว่าปล่อยตัวแล้วมาก่อเหตุก็ไม่ได้ แต่เมื่อทำผิดซ้ำโอกาสที่จะได้ลดโทษหรือปล่อยตัวอีกจะมีน้อย เมื่อเข้าคุกอีกจะไม่ใช่นักโทษชั้นดีอีกแล้ว แต่สาเหตุที่พบนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะความยากจน แต่อาจเกิดจากบันดาลโทสะ กิเลส ตัณหา ความคึกคะนอง เราไม่เคยใช้ ม.44 เล่นงานใครในลักษณะนี้แต่ใช้สำหรับจัดระเบียบโดยรวมมากกว่า ไม่มีการใช้ เช่นประหารชีวิต ยิงเป้า” นายวิษณุ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น