xs
xsm
sm
md
lg

กพย.ชง 30 เรื่องนำร่องยุทธศาสตร์ชาติ จ่อเปิดรับฟังความเห็น คาดเห็นผลก่อน เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (แฟ้มภาพ)
กพย.เคาะ 30 เรื่องนำร่องยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ม.ค.นี้ ผสานกับ ศก.พอเพียง-ศาสตร์พระราชา ทำแผนพัฒนาชาติ คาดเบื้องต้นเห็นผลก่อน เม.ย.นี้

วันนี้ (5 ม.ค.) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแง่ของกฎหมายจะต้องเตรียมทำร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดยุทธศาสตร์ชาติ ภายใน 120 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับ ทั้งนี้ เนื้อหาที่ร่างตามคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ตรงนี้จะเป็นร่างตุ๊กตาที่นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ มาตรา 65 ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2560 การทำงานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นรูปธรรม เข้มข้นมากขึ้นทันที

นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ที่เชื่อมโยงว่าการทำยุทธศาสตร์ต้องบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีกำหนดไว้ตามประกาศขององค์การสหประชาชาติใน “17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์” ซึ่งต้องทำภายใน15 ปี ล่าสุดการประชุม กพย.วันที่ 14 ธ.ค. 2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้กำหนดเป้าประสงค์ 30 เป้าประสงค์ที่จะเร่งรัดดำเนินการภายในช่วง 5 ปีแรก เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน มีผลกระทบสูงในวงกว้าง เช่น ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การยุติความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยเพียงพอ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน การอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก การยุติการค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อเด็ก การยับยั้งรูปแบบการอุดหนุนประมงเกินขีดจำกัด เป็นต้น โดยให้เวลาทำ 4 เดือนหลังจากมีมติการประชุมในวันที่ 14 ธ.ค. 2559

“ในช่วงเดือน ม.ค.นี้จะเริ่มเป็นการเปิดพื้นที่ในกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน พร้อมกับน้อมนําแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาด้านต่างๆ มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อนำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การที่จะทำให้ 30 เป้าประสงค์บรรลุผลอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเก่าหรือต้องมีการเสนอกฎหมายใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ก่อน เม.ย. 2560” นายบัณฑูรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น