xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ใช้ ม.44 ตั้ง กก.เตรียมการปฏิรูปปิดจุดอ่อน เสียของ-เสียเวลา!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

“ได้พิจารณาเพื่อออกคำสั่งในมาตรา 44 โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป โดยต้องการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นในปี 2560 เพื่อรวมเรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอเข้ามากว่า 100 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปจะนำงานของ คสช. รัฐบาล และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมเป็น 5 สาย มาปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป”

“ไม่มีเรื่องต้องแก้ไขในตอนนี้ ส่วนมาตรา 44 เคยบอกไปหลายครั้งแล้ว ไม่รู้ว่ากลัวอะไรหนักหนา เพราะใช้เพื่อประโยชน์ ไม่ได้เพื่อรังแกใครที่ไหน ถ้าไม่มีมาตรา 44 วันนี้ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะติดกฎหมาย เดินหน้าอะไรไม่ได้สักอย่าง คนที่ต้องการให้ยกเลิกคือคนที่ทำความผิด เรื่องนี้ถ้าไม่ผิดก็ไม่ได้ใช้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบเรื่องข่าวลือการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในเร็วนี้ รวมถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44

อาจจะเรียกว่าเป็นความคืบหน้าบนความ “ไม่คืบหน้า” อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้สำหรับวาระการปฏิรูปประเทศไทย ที่ขาดความชัดเจนและไม่มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง และเรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่สร้างความคลางแคลงใจให้กับชาวบ้านที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านกลุ่มนี้หากว่าไปแล้วน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกมาประท้วงต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยก่อนหน้านี้นั่นแหละ

ดังนั้น หากบอกว่าคนกลุ่มนี้มีความตื่นตัวทางการเมือง และรู้เท่าทันทางการเมืองสูงและเช่นเดียวกันคนกลุ่มนี้ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่น้อยก็กำลังจับตามองท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่ามีความเอาจริงเอาจังทำตามที่ได้ประกาศเอาไว้หรือไม่

หากจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศในวันแรกๆ หลังจากรัฐประหารเป็นผลสำเร็จว่าการปฏิรูปเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยจะปฏิรูปทุกด้าน และเท่าที่ประมวลเอาไว้ก็คือการปฏิรูปแบบเร่งด่วน 11 ด้าน ต่อมาก็มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่อ้างว่าเพื่อการปฏิรูปเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวดังกล่าวในสายตาชาวบ้านมองว่า “ไม่มีความคืบหน้า” อีกทั้งการปฏิรูปเร่งด่วนที่ชาวบ้านต้องการ เช่นการปฏิรูปตำรวจ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญในการฉุดรั้งการพัฒนาในทุกเรื่องกลับหยุดนิ่ง จนต่อมามีความชัดเจนจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ย้ำว่าต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง

นั่นก็หมายความว่าต้องรอต่อไป ทำให้ความหวังและความต้องการของชาวบ้านสำหรับการปฏิรูปตำรวจคงจะเป็นหมันตามเคย เนื่องจากไม่เคยเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากพวกนักการเมืองจะคิดเรื่องปฏิรูปตำรวจตามความต้องการของประชาชน และรู้สึกผิดหวังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช้สถานการณ์พิเศษและอำนาจพิเศษที่มีอยู่ในมือเร่งดำเนินการ

อย่างไรก็ดี การที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปที่เตรียมนำเอาข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รวบรวมข้อเสนอกว่า 100 เรื่อง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นข้อเสนอจากแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2560 เป็นต้นไป แม้ว่ายังไม่มีรายละเอียดว่าคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปดังกล่าวจะประกอบสัดส่วนจากไหนบ้าง หรือมีจำนวนเท่าใด แต่อย่างน้อยก็มีความชัดเจนขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง อย่างน้อยวาระการปฏิรูปยังคงเดินหน้าอยู่ต่อไป และคราวนี้ก็น่าจะเป็นการสรุปรวบยอดความคิดจากแม่น้ำ 5 สายดังกล่าว

แม้ว่านาทีนี้ทุกอย่างยังไม่ถือว่าคืบหน้ามากนักและยังไม่มีความชัดเจนได้เต็มร้อยว่าการปฏิรูปภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปดังกล่าวจะออกมาแบบไหนเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านหรือเปล่า หรือเป็นการซื้อเวลาหลังจากสังคมเริ่มกดดันและผิดหวังจากเรื่องดังกล่าว แต่อย่างน้อยหากมองในแง่ดีก็ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะไม่ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนมากจนเกินไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น