รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประหลาดใจถูกโจมตี ชี้ข้อกล่าวหาโดนเตะไปใช้ทุนขอนแก่นค่อนข้างรุนแรง ยันขอไปเอง รับศรัทธา “อาจอง - ไสบาบา” จริง แต่เชื่อเรื่องคุณธรรม ไม่เกี่ยวกับพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ปัดเกี่ยวชงชื่อ “อาจอง” นั่งประธานอนุฯ ใน กพฐ. ยันไม่เรียกเข้ามานั่งหัวโต๊ะแน่ เผย “สุรเชษฐ” ชงให้ดู สพฐ. เอง ไม่มีขัดแย้ง ด้านรายงานข่าวแฉพวกเสียประโยชน์จ้องดิสเครดิต
วันนี้ (25 ธ.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์กับ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และความศรัทธาต่อ สัตยะ สาอี บาบา หรือ ไส บาบา ศาสดาทางจิตวิญญาณชาวอินเดียชื่อดัง ซึ่งอาจมีผลต่อการกำหนดนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า มีความประหลาดใจเล็กน้อยที่มีความพยายามในเชื่อมโยงข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงมาโจมตีตน ทั้งในเรื่องประวัติการศึกษาที่หลังจากจบแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ตนก็เป็นคนเลือกไปใช้ทุนที่ จ.ขอนแก่น ด้วยตัวเอง ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครอยากไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ดังนั้น การระบุว่าตนถูกเตะโด่งไปนั้น จึงเป็นการกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง หรือการกล่าวถึงตำแหน่งอาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ก็มีข้อมูลอ้างอิงชัดเจนว่าตนได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ความใกล้ชิดและศรัทธากับ ดร.อาจอง หรือ ท่านอาจารย์ไส บาบา นั้นเป็นความจริง หากแต่เป็นความศรัทธาในเรื่องคุณธรรม การส่งเสริมคนเป็นคนดี ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อหรือพลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติใดๆ
“การศรัทธาหรือนับถืออาจารย์ท่านใดในโลก คงไม่อาจเหมารวมได้ว่า เราต้องนำเรื่องส่วนรวมไปตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง อีกทั้งท่านอาจารย์ไส บาบา ก็มีผู้เคารพนับถือทั่วโลก อดีตนายกฯ ของประเทศอินเดีย ก็เป็นลูกศิษย์อยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้นำพาประเทศไปในเสื่อมเสียอย่างที่ถูกกล่าวหา หรือจับตามองแต่อย่างใด” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับ ดร.อาจอง นั้น ตนมีความนับถือในเรื่องคุณธรรม วัตรปฏิบัติ การรับประทานมังสวิรัติ มาตั้งแต่สมัยที่เป็นนิสิตแพทย์ จุฬาฯ แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในขณะนั้นเสนอชื่อให้ ดร.อาจอง เป็น ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและพัฒนาหลักสูตรของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อปี 2557 เพราะตอนนั้นตนยังอยู่ที่ต่างประเทศ เมื่อกลับมาเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการในเดือน ต.ค. 57 และยืนยันว่า จะไม่มีการแต่งตั้ง ดร.อาจอง เข้ามาเป็นประธานหลักสูตรใดๆ เพราะอยากเห็น ดร.อาจอง ดูแลเรื่องคุณธรรมของโรงเรียนสัตยาไส ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมามากกว่า เนื่องจาก ดร.อาจอง เชี่ยวชาญในการสอนเด็กให้เป็นคนดี อย่างไรก็ตาม หลังจากตั้งโรงเรียนสัตยาไส เมื่อปี 2535 ตนก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ได้มีส่วนในการบริหารโรงเรียนมากนัก และมีเพียงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเท่านั้น
ส่วนกรณีการแบ่งงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ ได้นำ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากำกับดูแลเอง จากเดิมที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นผู้ดูแลนั้น นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองว่าเป็นการยึดหน่วยงาน หรือทำผิดมารยาท เพราะตามหลักความเป็นจริงแล้ว สพฐ. มักอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการ แต่ในสมัยที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด เป็น พล.อ.สุรเชษฐ์ ที่เสนอให้ตนกำกับดูแล สพฐ. เพื่อดำเนินการเรื่องการวางยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติให้สอดคล้องกับแผนยุทธ์ศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล ส่วน พล.อ.สุรเชษฐ์ จะเน้นในการดูแลยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงผ่านการพัฒนาด้านการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับ พล.อ.สุรเชษฐ์ อย่างแน่นอน
รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ขณะนี้มีความพยายามจากบางขั้วอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดิสเตรดิตทีมรัฐมนตรีใหม่ โดยต้องการทำให้เกิดภาพความขัดแย้งระหว่าง นพ.ธีระเกียรติ กับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ในการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อ ครม. ชุดใหม่ จากนั้นเมื่อ นพ.ธีระเกียรติ รับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มีการประกาศนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันภายในกระทรวง ซึ่งมีรายงานว่า เป็นหน่วยงานที่มีเรื่องทุจริตมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงมีขบวนการจากผู้ที่กลัวจะเสียประโยชน์ปล่อยข่าวโจมตี นพ.ธีระเกียรติ โดยเชื่อมโยงกับ ดร.อาจอง และ ไส บาบา ออกมา