สพม. จัดเสวนาเรื่องการมีส่วนร่วม ปชช. กับการพัฒนา ปชต. “เสี่ยจ้อน” ย้ำ การเมืองเข้มแข็งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมพลเมือง หนุน สพม. อยู่ต่อ พร้อมชงตั้งสมัชชาประชารัฐ สร้างการมีส่วนร่วมของ ปชช. ทั่วประเทศ
วันนี้ (16 พ.ย.) สภาพัฒนาการเมืองจัดงานครบรอบ 9 ปี สภาพัฒนาการเมืองโดยมีการเสวนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 และ นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ร่วมเสวนา โดย นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การเมืองจะเข้มแข็งได้ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยการมีส่วนร่วมมี 2 อย่าง คือ มีส่วนร่วมตามกฎหมาย และมีส่วนร่วมตามกระบวนการ ทั้งนี้การพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมาของอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา นั้น หากพรรคการเมือง และนักการเมืองไม่สามารถสร้างความศรัทธา สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ ประชาชนก็จะไม่เอาพรรคการเมือง ดังนั้น จึงมีการวางรากฐานการเมืองภาคพลเมืองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา โดยมีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า แม้ที่ผ่านมา การเมืองจะล้มเหลวแต่ภาคพลเมืองกำลังเข้มแข็ง ทั้งนี้ ตนสนับสุนนให้มีสภาพัฒนาการเมืองต่อไป และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่เป็นร่างกฎหมายที่มีการมองการเมืองภาคพลเมืองแบบเก่า มองจากบนลงล่าง แต่ไม่มองความสำเร็จการเมืองภาคพลเมืองที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า หัวใจสำคัญของการเมืองของพลเมืองนั้น คือ การเป็นหุ้นส่วน ทำงานร่วมกันให้ได้ นอกจากนั้น จะต้องมีโครงสร้างตามกฎหมาย ทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ซึ่งตนได้วางโครงสร้างนี้ไว้ คือ สมัชชาประชารัฐเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ด้าน นายประวิช กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น คือ การไม่ซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมา กกต. ได้ดำเนินการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการตั้งหลักว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ เราจะร่วมกับประชาชนได้อย่างไร จากนั้นจึงมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์ของประชาชนที่จะช่วยกันคิดและทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เห็นได้จากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งแสดงว่า เรามาถูกทางแล้ว เพราะความสำเร็จของหลายหน่วยงานล้วนมาจากการทำงานของภาคพลเมืองกับภาครัฐ ทั้งนี้ หาก สปท. มีแผนที่ชัดเจนว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรเราจะมีภาพที่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างไร