รองนายกฯ เผยหากทนาย “ยิ่งลักษณ์” ฟ้องกลับรัฐคดีข้าวก็พร้อมสู้คดี ไม่ทราบความคืบหน้าเรียกค่าเสียหาย ชี้ข้อเสนอตั้งผู้ตรวจฯเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด แค่ไม่อยากให้อยู่ถาวรจนมีอำนาจ อ้างสมัย “บวรศักดิ์” เคยคิดไว้แล้ว แย้มใช้คนเดิมได้ แจง รบ.จัดกิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดี 22 พ.ย. เหตุใกล้วันบำเพ็ญพระราชกุศลรัชกาลที่ ๙ และใกล้ 5 ธ.ค.
วันนี้ (16 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมคัดค้านคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลปกครองว่า ไม่เป็นไร เราเพียงรับทราบ และไม่จำเป็นต้องตั้งทีมขึ้นมาสู้คดี เมื่อถึงเวลาเขาฟ้องมาเราก็สู้คดีไป โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดมาช่วยแก้คดี เรื่องรายละเอียดยังไม่ได้คิดอะไร ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 80% นั้นตนไม่ทราบ ไม่เคยสอบถามรายละเอียดเรื่องนี้ไป ไม่ได้เรียกมาดูว่ารายชื่อมีใครบ้าง
นายวิษณุกล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัด ว่าความจริงแล้ว กรธ.ไม่อยากให้ กกต.จังหวัดเป็นหน่วยงานถาวร แต่ต้องการเปลี่ยนคือ เมื่อเลือกตั้งเมื่อไรค่อยตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามา หลักการนี้เคยมีมาแล้วในรัฐธรรมนูญสมัยของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ระบุไว้ไม่ให้มี กกต.จังหวัด โดยจะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาสำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นถือว่าจบกันไป แล้วเลือกเข้ามาใหม่เมื่อมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ยึดครองอยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจ
“แต่ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ออกมาแย้งก็มีเหตุผลที่ว่า ต้องหาคนเข้ามาหลายพันคนและจะเปลี่ยนบ่อยๆ ได้อย่างไร ซึ่งความจริงเปลี่ยนบ่อยๆ มันก็เปลี่ยนได้ ถ้าเปลี่ยนแล้วอาจจะเลือกใช้คนเดิมก็ได้ มันไม่แปลก แต่มันไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องเป็นคนเดิม แต่ถ้าตั้งแบบอยู่ประจำ 4 ปีมันก็ต้องอยู่กันไปแบบนี้ เอาเขาออกก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ก็อาจจะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ก็ชั่งน้ำหนักกันไป ผมไม่รู้รายละเอียด ช่วยกันคิดสำหรับที่จะหาทางให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุยังกล่าวถึงกิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดี เพื่อประกาศความจงรักภักดีและร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพปีที่ 89 ในวันที่ 22 พ.ย.ว่า รัฐบาลอยากให้กิจกรรมตรงกับวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะประชุมทุกๆ วันอังคาร แนวคิดเดิม คือ หากเราไม่จัดวันที่ 22 พ.ย.จะต้องไปจัดวันที่ 29 พ.ย.ซึ่งรัฐมนตรีบางรายอาจติดภารกิจ การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวเพราะใกล้กับวันพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร 50 วันในวันที่ 1 ธ.ค. และยังใกล้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่เราจะร่วมแสดงความจงรักภักดี ไม่ได้หมายความว่าต้องไปถวายบังคมพระบรมศพเพียงอย่างเดียว เราสามารถทำได้หลายกิจกรรม อาทิ การถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งการทำความดีด้วยกายเราได้ทำไปแล้วคือ การเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ ใจเราก็ได้ทำไปแล้วคือการให้คำมั่นว่าจะทำความดีตามรอยพ่อ ส่วนวาจาเรายังไม่มี เลยถือโอกาสจัดเป็นการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนขึ้น
นายวิษณุกล่าวว่า เดิมทีรัฐบาลอยากจะจัดกิจกรรมนี้ในวันที่ 5 ธ.ค. แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ อาจจะมีงานพระราชพิธีที่ครม.ต้องเข้าร่วม ทำให้จัดไม่ได้ ส่วนคำถามว่าทำไมไม่จัดช่วงค่ำของวันที่ 5 ธ.ค.แทนการจุดเทียนชัยถวายพระพร รัฐบาลก็คิดว่าอาจไม่สะดวกเพราะสนามหลวงมีประชาชนจำนวนมากรอเข้าแถวเข้าไปถวายบังคมพระบรมศพจะไปแย่งที่เขาคงลำบาก ทำให้เกิดแนวคิดว่าจะจัดที่ใดก็ได้ แต่ไม่ต้องมารวมกัน ส่วนกระทรวงการต่างประเทศขอจัดกิจกรรมวันที่ 20 พ.ย.แทน เพราะเขาสะดวกวันหยุดราชการ ยืนยันว่าไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณของอะไรทั้งนั้น