สนช.ประชุมแถลงปิดคดีด้วยวาจาปมถอด 2 ส.ส.เพื่อไทย “สุภา” ชี้ลงมติแทนกันละเมิดสมาชิก แถมมีคลิปยันเจตนาทุจริตชัด อ้างโรคมือยุกยิกฟังไม่ขึ้น ส่วนกรณีสอดไส้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทำกฎหมายขัด ต่อ รธน. ด้าน “นริศร” ยังอ้างมีบัตรสำรองหลายใบ กดไปก็ได้คะแนนเดียว โวยถูกแกล้งโดนจ้องถ่ายคนเดียว ขณะที่ “อุดมเดช” อ้างแก้เพราะไม่ตรงเจตนารมณ์ของคนร่างฯ ชูเจ้าหน้าที่สภายันทำได้ “พรเพชร” นัดลงมติพรุ่งนี้
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา นายนริศร ทองธิราช และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงปิดสำนวนโดยเริ่มจากกรณีของนายนริศรว่า สมาชิกรัฐสภาถือเป็นตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติโดยไม่อยู่ใต้อาณัติใคร การแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ต้องดำเนินการด้วยตัวเอง เมื่อมีการดำเนินการใช้บัตรแสดงตนแทนกัน จึงเป็นการผิดปกติวิสัยของรัฐสภาที่สมาชิกรัฐสภาหนึ่งคนจะมีสิทธิออกเสียงหนึ่งคะแนนและเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และเป็นมติที่ไม่ชอบตามกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย
นางสุภากล่าวว่า การไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้สอบสวนพยานหลักฐานครบถ้วน ให้ความเป็นธรรมเต็มที่ รับฟังได้ว่านายนริศรกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง โดยปรากฏคลิปใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ 3 ใบ หมุนเวียนเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนน มีเจตนาทุจริตออกเสียง ทำให้การลงคะแนนเป็นไปโดยมิชอบ การอ้างว่าเป็นคลิปตัดต่อ เป็นการอ้างเลื่อนลอย เพราะสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบแล้วระบุว่าไม่มีการตัดต่อแก้ไขคลิป และการอ้างว่ามีบัตรลงคะแนนหลายใบ เจ้าหน้าที่รัฐสภายืนยันว่าได้ออกบัตรลงคะแนนให้นายนริศรเพียงใบเดียว ส่วนที่นายนริศรระบุเป็นโรคมือยุกยิกนั้นก็ไม่สามารถรับฟังได้ จึงสมควรที่ สนช.จะแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ถอดถอนนายนริศรออกจากตำแหน่ง
ด้านนายนริศรแถลงโต้แย้งว่า ยอมรับว่าตนเองมีบัตรลงคะแนนหลายใบจริงแต่เป็นบัตรของตนเอง ประกอบด้วย บัตรลงคะแนนจริง และบัตรลงคะแนนสำรอง ที่ผ่านมาส่วนตัวก็ดำเนินการลักษณะนี้เป็นประจำ หมายความว่ามักจะกดลงคะแนนหลายครั้ง แต่ไม่ว่าจะกดลงคะแนนอย่างไร คะแนนที่ออกมาจะมีเพียงแค่คะแนนเดียวเท่านั้น
“ผมทำอย่างนี้เป็นประจำ แต่ไม่มีการกดบัตรแทนคนอื่นแน่นอน และที่มีการกล่าวหาว่าผมกดบัตรแทนก็ไม่ได้มีการบอกว่ากดบัตรแทนใคร ผมโดนกลั่นแกล้ง ทำไมในเมื่อสมาชิกรัฐสภามีหลายร้อยคน แต่ผมถูกจ้องถ่ายอยู่คนเดียว นอกจากนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปของคลิปได้ เท่ากับว่าพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคลไม่ชัดเจนเพราะพิสูจน์ไม่ได้” นายนริศรกล่าว
นายนริศรกล่าวว่า วันนี้เป็นประเด็นทางการเมืองที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติถูกลดความสำคัญลงมา จนถึงวันนี้ก็ไม่มีการสามารถหาต้นตอของผู้ถ่ายคลิปไม่ได้ ยิ่งทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช.ที่จะลงมติ คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ประเทศจะได้จารึกไว้ แต่เวลานี้มีข่าวออกมาแล้วว่า สนช.มีธงว่าจะลงมติถอดถอน 250 เสียง และอัยการก็เตรียมฟ้องเพื่อดำเนินคดีทางอาญา
“โปรดให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะเกิดความยุติธรรมแบบเลือกข้าง อีกข้างทำอะไรถูกหมด อีกข้างทำอะไรผิดหมด ผมไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความเคารพ สนช.ขอยืนยันว่าไม่มีการกดบัตรแทนคนอื่น และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา” นายนริศรกล่าว
ต่อมาเป็นการพิจารณาในกรณีของนายอุดมเดช โดย น.ส.สุภา อ่านคำแถลงปิดคดีว่า จากการไต่สวนพบว่านายอุดมเดช เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พบว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอประธานรัฐสภาตอนแรกกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภามีเนื้อหาไม่ตรงกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญที่นำมาเสนอแก้ไขในภายหลังมีที่มานั้นมีการแก้ไขให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งขณะนั้นสามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.อีกวาระได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค อีกทั้งการแก้ไขและการเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอม เพราะไม่มีการลงชื่อรับรองของสมาชิกรัฐสภา จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามารัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291
น.ส.สุภากล่าวว่า เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่มีการแก้ไขให้ ส.ว.ลงสมัคร ส.ว.อีกได้นั้น ปรากฏว่าไม่มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงนามเสนอญัตติใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเด็ดขาดทุกองค์กร
“นายอุดมเดชมีการแก้ข้อกล่าวหาว่าการแก้ไขเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระสามารถทำได้เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัตินั้น ป.ป.ช.มีความเห็นว่า เป็นการแก้ไขในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมีการกำหนดหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาในกฎหมายก่อนประธานรัฐสภาสั่งบรรจุได้จึงไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการอ้างธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายย่อมไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว” น.ส.สุภากล่าว
น.ส.สุภากล่าวว่า ถ้าไม่ถอดถอนจะเกิดอะไรกับประเทศไทย ขอเรียนว่าประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” แต่ปรากฏว่าการกกระทำที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับรัฐสภาผูกขาดและไม่เคารพประชาชน 70 ล้านคน
“รัฐธรรมนูญถือเป็นจิตวิญญาณของประเทศไทย เพื่อบริหารแผ่นดินแม่ของเรา ดิฉันเชื่อมั่นใน สนช.ที่ถูกคัดเลือกมาให้ปฏิรูปประเทศ ทุกคนมีคุณวุฒิ รู้ดีรู้ชั่ว สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ ในสังคมไทยมีระบบอาวุโสและมีการช่วยเหลือกันซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของคนไทย แต่ขอรบกวน สนช.ว่าต้องให้ความเป็นธรรมแก่แผ่นดิน ว่าเรื่องใดที่เป็นส่วนตัวจะนำมาพิจารณาไม่ได้ เสียงของ สนช.จะมีผลต่ออนาคตต่อประเทศไทยมากๆ เสียงของ สนช.มีคุณภาพทุกคน” นางสุภากล่าว
ขณะที่นายอุดมเดชกล่าวโต้แย้ง ป.ป.ช.ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ไม่ได้ไต่สวนพยานตามที่ตนเองได้ขอไปครบทุกคน ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาระดับสูงได้ความว่าการแก้ไขปรับปรุงสามารถกระทำได้ จึงเป็นที่ยุติการกระทำของตนเองไม่ผิดกกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช.ควรรับฟังและให้น้ำหนักพยานในส่วนนี้
“ตามหลักการในการรับฟังพยานนั้นสมาชิก สนช.สามารถดำเนินการสอบถามกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แม่นยำมากขึ้นว่าการกระทำของผมถูกต้องหรือไม่ ส่วนปัญหาข้อกฎหมายนั้นขอยืนยันต่อ สนช.ว่าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการกล่าวหาเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอมและสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนทั่วไปอาจเข้าใจสับสนได้ ขอยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นการแก้ไขปรับปรุง หลังจากพบว่ามีความบกพร่องไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายอุดมเดชกล่าว
นายอุดมเดชกล่าวว่า นอกจากนี้ ไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ แต่ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ของวิปรัฐบาลไปประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภา ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ จึงดำเนินการให้ ถ้าวันนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถทำได้ ตนและคณะมีวิธีทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เสนอได้ เช่น การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ ขอแปรญัตติในวาระที่ 2 หรือแก้ไขในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ
“การอ้างว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ผมขอเรียนว่า ป.ป.ช.ได้เชิญนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับ ป.ป.ช.หรือไม่อย่างไร โดยได้ความว่าสิ่งที่ผูกพัน คือ เฉพาะส่วนท้ายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนประกอบอื่นๆ เป็นเหตุผลเท่านั้นไม่มีลักษณะผูกพันโดยตรง” นายอุดมเดชกล่าว
ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้นัดให้ที่ประชุม สนช.ลงมติถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ในวันที่ 4 พ.ย. โดยก่อนมีการพิจารณา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.กล่าวว่า อยากให้สมาชิก สนช.เข้ามาฟังการแถลงปิดคดี เพื่อนำไปสู่การใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องก่อนการการตัดสินใจ อีกทั้งการถอดถอนครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการดำเนินการกันในสภา เนื่องจากอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ได้เป็นอำนาจของสภาอีกต่อไป