รองนายกรัฐมนตรี ชี้นายกฯ ระบุเวลาการสืบราชสันตติวงศ์ คงหลังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลระยะหนึ่ง ให้ผ่านพ้นช่วงที่คนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ก่อนทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยันพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อไหร่ไม่สามารถตอบได้ มั่นใจไม่กระทบปฏิทินงาน รอศาล รธน.วินิจฉัยแก้คำปรารภ
วันนี้ (18 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 17.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีระบุเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์เมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วันไปแล้วระยะหนึ่งว่า เป็นไปอย่างที่นายกฯ ได้อธิบาย และเป็นไปตามที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชปรารภตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ต.ค. และอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตอนที่นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ พร้อมกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์ทรงรับสั่งว่าเรื่องที่จะดำเนินการสืบราชสันตติวงศ์ให้รอระยะเวลา พระองค์ทรงใช้คำว่าทุกฝ่ายสามารถทำใจได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วก่อน ดังนั้นขอให้รอ เมื่อถึงเวลาอันสมควร ประชาชนคลายความทุกข์โศกลงได้บ้าง ให้พระราชพิธีต่างๆ ได้ผ่านพ้น
“เพราะฉะนั้นที่นายกฯ พูดถึง 7 วัน 15 วัน เป็นรอบของการที่จะมีพระราชพิธีครบรอบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน ซึ่งคนไทยเราทำบุญตามรอบเช่นนี้ จึงขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่คนได้ทำสิ่งที่อยากทำกันเสียก่อน แล้วการยอมรับความเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ ความหมายมีแค่นี้ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน” นายวิษณุกล่าว
ส่วนที่นายกฯ ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานนั้น นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยพระองค์เอง แต่จะเป็นเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบขั้นตอนระยะเวลาในปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างดังกล่าวจะอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการได้ 90 วัน ดังนั้นจะอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือหากล่าช้ากว่านั้นก็ไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถทำงานของเขาได้ จึงอย่าไปตีความอะไร ทุกอย่างตรงไปตรงมาหมด ส่วนรัฐบาลเองจะได้เตรียมการ สถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็พร้อม
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนกรณีการแก้ไขคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ครม.มีมติให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ปี 2559 และเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับแล้วจะพิจารณาโดยเร็วซึ่งไม่ยาก เพราะใครจะเป็นคนแก้ จะแก้อย่างไร ได้เตรียมไว้แล้ว และไม่ได้แก้เนื้อความ แก้เฉพาะพระปรมาภิไธยตอนต้นเท่านั้น โดยต้องขอความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ