xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำสั่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่รับอุทธรณ์ 2 จําเลย คดีอดีตผู้บริหารกรุงไทย ปล่อยกู้หมื่นล้าน ให้ บมจ.กฤษดาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ “2 จําเลย” อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย คดีปล่อยเงินกู้ให้ บมจ.กฤษดามหานคร ร่วมหมื่นล้านบาทโดยมิชอบ ระบุ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทําให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ

วันนี้ (17 ต.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ชั้นพิจารณาอุทธรณ์) [คดีหมายเลขดำที่ อม. ๓/๒๕๕๕ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๕๕/๒๕๕๘ ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ ที่ ๒ นายวิโรจน์ นวลแข ที่ ๓ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ที่ ๔ นายพงศธร สิริโยธิน ที่ ๕ นายนรินทร์ ดรุนัยธร ที่ ๖ นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ ที่ ๗ นายโสมนัส หรือ ฐณพบ ชุติมา ที่ ๘ นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ ที่ ๙ นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ ที่ ๑๐ นายบุญเลิศ ศรีเจริญ

ที่ ๑๑ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา ที่ ๑๒ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล ที่ ๑๓ นางสาวกุลวดี สุวรรณวงศ์ ที่ ๑๔ นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ ที่ ๑๕ นายประวิทย์ อดีตโต ที่ ๑๖ นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ ที่ ๑๗ บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด ที่ ๑๘ บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่ ๑๙ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ที่ ๒๐ บริษัท โบนัส บอร์น จำกัด ที่ ๒๑ บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ ๒๒ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา ที่ ๒๓ นายบัญชา ยินดี ที่ ๒๔ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ที่ ๒๕ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ที่ ๒๖ นายไมตรี เหลืองนิมิตรมาศ ที่ ๒๗ จำเลย]

โดย คดีนี้ จําเลยที่ ๕ (นายนรินทร์ ดรุนัยธร) และที่ ๒๐ (บริษัท โบนัส บอร์น จำกัด) ได้ยื่นอุทธรณต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า อุทธรณ์ของจําเลยที่ ๕ และที่ ๒๐ ไม่ต้องด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทําให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ที่ประชุมใหญ่จะรับไว้พิจารณา

“การกระทําของจําเลยที่ ๕ มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบและคําสั่งโดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือ จําเลยที่ ๑๙ ให้ได้รับเงินสินเชื่อจากธนาคารผู้เสียหาย เป็นการกระทําโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการบริหารมีมติเปลี่ยนแปลงวงเงินสินเชื่อที่คณะกรรมการสินเชื่อมีมติไว้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพียงแต่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อพิรุธประการหนึ่งของคณะกรรมการสินเชื่อที่มีความเห็นควรอนุมัติสินเชื่อให้แก่ จําเลยที่ ๑๙ เท่านั้น หาใช่ว่าเมื่อจําเลยที่ ๕ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวงเงินสินเชื่อแล้วจะทําให้จําเลยที่ ๕ พ้นผิดไปได้”

“จำเลยที่ 20 อุทธรณ์ว่า ธนาคารผู้เสียหายได้นําใบสําคัญแสดงสิทธิ (warrant) ออกขายในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว แต่ไม่มีการนําสืบในชั้นไต่สวนว่าธนาคารผู้เสียหายขายใบสําคัญแสดงสิทธิ (warrant) เมื่อใด และได้รับเงินจากการขายเป็นจํานวนเงินเท่าใดนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่ได้บ่งชี้ให้เห็นว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนให้เห็นเช่นนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทนิยาม“พยานหลักฐานใหม่”

นอกจากนี้ เงินที่ธนาคารผู้เสียหายได้รับจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและใบสําคัญแสดงสิทธิ (warrant) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้นําไปหักชําระค่าดอกเบี้ยที่จําเลยที่ ๒๐ ที่ ๒๕ และที่ ๒๖ ผิดนัดชําระค่าหุ้นบุริมสิทธิแล้วแต่ยังไม่เพียงหักชําระดอกเบี้ยทั้งหมด ดังนั้น ในคดีนี้จําเลยที่ต้องรับผิดชําระค่าหุ้นบุริมสิทธิให้แก่ธนาคารผู้เสียหายจะมีสิทธินําเงินที่ธนาคารผู้เสียหายได้รับจากการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและใบสําคัญแสดงสิทธิ (warrant) ไปหักชําระจากต้นเงินค่าหุ้นบุริมสิทธิได้หรือไม่เพียงใด เป็นปัญหาที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ประกอบกับคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้ ระบุไว้แล้วว่าจํานวนเงินที่พิพากษาให้จําเลยแต่ละคนชดใช้ให้แก่ธนาคารผู้เสียหายนั้นถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชําระคืนแล้วเป็นจํานวนเท่าใด ก็ให้หักออกตามส่วนแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของที่ ๒๐ จึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไข ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทําให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามบันทึกความเห็น สรุปสํานวนขององค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์ของจําเลยที่ ๕ และที่ ๒๐ แต่อุทธรณ์ของจําเลยที่ ๕ และที่ ๒๐ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทําให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจําเลยที่ ๕ และที่ ๒๐ ไว้พิจารณา.

อ่านคําสั่งตามมติที่ประชุมใหญศาลฎีกา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/091/1.PDF

มีรายงานว่า คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา จำคุก ร.ท.สุชาย, นายวิโรจน์, นายมัฌชิมา และ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 2-4 และ 12 คนละ 18 ปี ตามความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ส่วนจำเลยที่ 5, 8-11, 13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี

คดีนี้ ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ

1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เคโปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก


กำลังโหลดความคิดเห็น