ตามดู! คำสั่ง “บิ๊กตู่” ตั้ง 3 คณะกรรมการตรวจสอบ “กล้องวงจรปิด” ระดับประเทศ-จังหวัด-กทม. ย้ำชัดต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยคำสั่งให้ “บิ๊กป้อม” นั่งประธานฯ บูรณาการ ทหาร-ตำรวจ-ขรก.พลเรือน-ภาคเอกชนทั่วประเทศ วิเคราะห์กำหนดจุดเสี่ยง-จุดสำคัญ ปรับปรุงซ่อมแซม รวบรวมจำนวนข้อมูลกล้องวงจรปิด งง! กรรมการระดับ กทม.ไร้เงาฝ่ายบริหาร กทม.นั่งร่วมแม้มีกล้องซีซีทีวีในระบบกว่า 5 หมื่นตัว เผยยอดล่าสุด อปท.มีกล้องวงจรปิดในครอบครองมากกว่า 1 แสนตัว ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 14,756 ตัว คาดมีกล้องวงจรปิดในระบบมากกว่า 1 ล้านตัว
วันนี้ (10 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการใช้งานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ มีปลัดกระทรวง 10 กระทรวง ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการ สมช. ผบ.สส. ผบ.ตร. เลขาธิการ กอ.รมน. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เลขาธิการ กสทช. ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานหอการค้าไทย เป็นกรรมการจำนวน 27 คน ทั้งนี้ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแผนการบูรณาการและวางแผนระบบการเชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ทั่วประเทศ เพื่อสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบ และบูรณาการเชื่อมโยงกล้อง CCTV ทั่วประเทศ ในภาพรวมต่อนายกรัฐมนตรี และครม.รับทราบ พร้อมทั้งนำเสนอเสนอปัญหาอุปสรรคและเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาการดำเนินการของจังหวัด และกรุงเทพฯ
รวมทั้งยังแต่งตั้งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบจังหวัดในเขตตรวจราชการ เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการใช้งานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระดับจังหวัด มีผู้ว้าราชการจังหวัดเป็นรองกรรมการ มี ผบ.มณฑลทหารบก ปลัดจังหวัด ผบก.จังหวัด และข้าราชการ-เอกชนในจังหวัดเป็นกรรมการจำนวน 23 คน
มีอำนาจหน้าที่ กำหนดแนวทางและดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ ความมีอยู่จริงและประสิทธิภาพ ของกล้องวงจรปิดในพื้นที่จังหวัด และรวบรวมข้อมูลกล้องวงจรปิด ที่มีในพื้นที่จังหวัดปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลของจังหวัด สำหรับบูรณาการเชื่อมโยงและจัดระบบกล้องวงจรปิดให้มีประสิทธิภาพ มีหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดจุดเสี่ยง หรือจุดสำคัญที่มีความจำเป็นในการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด จัดทำแผนการติดตั้งกล้องวงจรปิดในจังหวัดให้มีความครอบคลุม จุดเสี่ยง หรือจุดสำคัญ รวมถึงแผนการปรับปรุงและซ่อมแซมให้ใช้ได้โดยปกติ
ทั้งนี้ยังแต่งตั้งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ส่วน กทม.) เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการใช้งานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธาน มีผู้แทนปลัดกระทรวง 7 กระทรวง ผู้แทน เลขาธิการ กอ.รมน. ผู้แทนหน่วยราชการในส่วนกลาง (กทม.) เช่น ผู้แทนตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพฯ เป็นกรรมการ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าคณะกรรมการชุดท้ายนี้ มีการแต่งตั้งตัวแทนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายข้าราชการประจำจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งกล้องวงจรปิดส่วนใหญ่บริหารโดยเป็น ร่วมเป็นกรรมการเลย โดยกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่มีหน้าที่เพียงในขอบเขตกรุงเทพมหานคร
ก่อนหน้านั้นในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการใช้งานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่เป็นกรรมการ เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ เชื่อมโยง และตรวจสอบ CCTV ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดจุดที่มีความจำเป็นต้องติดตั้ง CCTV เพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้นำเสนอผลการดำเนินการให้รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พิจารณา
มีรายงานจากศาลว่าการกรุงเทพมหานคร ว่าสำหรับกรุงเทพมหานครมีกล้อง CCTV ที่ติดตั้งไปทั้งหมด (ข้อมูลปี 2557) จำนวน 47,668 กล้อง ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร โดยกองพัฒนาระบบจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แล้วเสร็จ 20,345 กล้อง อยู่ในความรับผิดชอบของ สจส. แบ่งเป็นกล้อง CCTV เพื่อการจราจร จำนวน 438 กล้อง กล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัย 13,923 กล้อง อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 4,022 กล้อง อยู่ในความรับผิดชอบหน่วยงานอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร ภายในอาคารสำนักงานต่างๆ 623 กล้อง และอยู่ในโครงการ BTS และโครงการ BRT 1,339 กล้อง นอกจากนี้ยังมีกล้อง CCTV ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งของสำนักการจราจรและขนส่ง 27,063 กล้อง แบ่งเป็นติดตั้งพร้อมเชื่อมโยงแล้ว 3,423 กล้อง อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้ง 280 กล้อง ติดตั้งแบบ Standalone (บันทึกภาพที่ตัวกล้อง) 23,820 กล้อง ติดตั้งแล้วเสร็จ 19,524 กล้อง อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้ง 4,296 กล้อง
ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เฉพาะ กทม.พบว่าจากนโยบายปฏิบัติการจับจริงผู้ขับขี่ที่มีพฤตินิสัยในการทำผิดกฎหมายจราจร เป็นประจำ 199 แยกทั่วประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่ามีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีแบ่งเป็น 90 แยกทั่วกรุงเทพมหานคร (ติดตั้งกล้องจรปิดไม่ครบทั้งหมด) และอีก 109 แยกในทุกกองบัญชาตำรวจภูธรภาค
สำหรับในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ข้อมูลขจาก กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีต ผบ.ทบ.ในฐานะรองเลขาธิการ กอ.รมน.เป็นประธาน ได้พิจารณา “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล” ตามคำแถลงของ พ.อ.พีรวัชฒ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. ระบุว่า ได้มีการพิจารณาปรับกำลังเพื่อให้สอดคล้องและรองรับโครงการต้นแบบนี้ มีการมุ่งเน้นด้านการข่าวเพิ่มขึ้น โดยจะใช้ “ระบบการเฝ้าตรวจทางเทคโนโลยีมาใช้” ได้มีการติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อเฝ้าระวังเหตุตลอด 24 ชม.
“ขณะนี้มีกล้องซีซีทีวีในพื้นที่ 6,427 ตัว จาก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรงมหาดไทย กรมการปกครอง องค์การปกคอรองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กอ.รมน.ภาค 4 สน . กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอยู่ระหว่างขอติดตั้งเพิ่ม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,705 ตัว กระทรวงศึกษาธิการ 6,624 ตัว ทำให้ในพื้นที่จะมีกล้องซีซีทีวีรวม 14,756 ตัว ครอบคุลมพื้นที่ปฏิบัติของ สภอ.เมืองฯ อบต. อบจ.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่ามีการแจ้งมายังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กว่า 1 แสนเครื่อง เช่น เทศบาลนครขอนแก่น มีการติดตั้งกล้อง CCTV ถึง 1,000 จุด จากความร่วมมือจากภาคเอกชนและราชการ อาทิ สถานีตํารวจภูธรเมืองขอนแก่น และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น โดยเทศบาลนครขอนแก่น เคยอนุมัติอุดหนุนให้กับรายที่ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นไปตามเงื่อนไข โดยจะเงินอุดหนุนให้ 5,000 บาทต่อ 1 ตัว โดยเป็นกล้องที่หันออกสู่พื้นสาธารณะ
เทศบาลนครอุดรธานีมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดใน 10 ทางแยก และอีก 46 ตัว มีการการติดตั้งระบบแอเรียทราฟฟิกคอนโทรล บนถนนศรีสุข และถนนโพศรี ขณะที่ได้เตรียมว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาออกแบบระบบจราจรทั้งระบบ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และระบบขนส่งมวลชน
เทศบาลนครนครราชสีมา จากเดิมมีการติดตั้ง 5 จุด 5 แยกไฟแดง เพิ่มเป็น 25 จุด 13 แยกไฟแดง เช่น บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม), บริเวณแยกไอทีซิตี้ ถนนมิตรภาพ, บริเวณสามแยกมิตรภาพ ตรงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี, บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ และบริเวณสามแยกจักราช
ส่วนเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เป็นกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งเป็นแบบภาพสี สามารถรับภาพได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน (Day/Night Auto Switch) พร้อมอุปกรณ์บันทึกภาพข้อมูลลงสู่ Harddisk แบบ HD-SDI ชนิด 1080P สามารถดูภาพย้อนหลังได้นานนับเดือนถึงกว่า 30 วัน เป็นกล้องที่มีความคมชัดสูงสุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ติดตั้งไปแล้วทั้งหมดรวม 29 จุด ด้วยงบกว่า 3 ล้านบาท และจะมีการอนุมัติอีก 10 ล้านบาทเพื่อติดตั้งในจุดสำคัญ
ล่าสุด เทศบาลเมืองหัวหินมีโครงการนำร่องจัดตั้งศูนย์ประสานงานรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยเทศบาลเมืองหัวหิน ด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV ความคมชัดสูง จำนวน 60 ตัวใน 20 จุด ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังพบว่ากล้องวงจรปิดในระบบเอกชนและภาครัฐในประเทศไทยมีมากกว่า 1 ล้านตัว โดยภาคเอกชน และครัวเรือน มีครอบครองประมาณ 20% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากจีน และที่ได้รับความสนใจจากรปะชาชนมากที่สุด ได้แก่ ของสำนักบริการบำรุงทาง กรมทางหลวง ที่ได้ให้บริการข้อมูลทางเว็บไซต์เกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพการจราจรบนทางหลวงทั่วประเทศ โดยคุณสามารถตรวจสอบสภาพการจราจรได้ผ่านทางกล้อง CCTV ที่ได้ติดตั้งอยู่บนทางหลวงทั่วประเทศ รวมทั้งมีการแนะนำความคล่องตัวของแต่ละเส้นทาง รวมทั้งแจ้งพิกัดของพื้นที่ที่มีการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงทางหลวงในแต่ละจุด เพื่อช่วยให้คุณวางแผนรวมทั้งหลีกเลี่ยงเส้นทางที่อาจจะประสบปัญหารถติดได้ง่าย
มีรายงานด้วยว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2559 กระทรวงดิจิทัลได้กำหนดเกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานของระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดประจําปี พ.ศ. 2559 โดย กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สําหรับติดตั้งภายในอาคาร (Indoor Fixed Network Camera) แบบที่ 1 ราคา 17,000 บาท กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สําหรับติดตั้งภายในอาคาร (Indoor Fixed Network Camera) แบบที่ 2 ราคา 27,000 บาท กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สําหรับติดตั้งภายในอาคาร (Indoor Fixed Network Camera) แบบที่ 3 ราคา 35,000 บาท กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบปรับมุมมองสําหรับติดตั้งภายในอาคาร (Indoor PTZ Network Camera) แบบที่ 1 ราคา 50,000 บาท เป็นต้น
จากเว็บไซต์ whitesecurity ของอังกฤษ สรุปข้อมูลของจำนวนกล้องซีซีทีวีในเมืองต่างๆ เช่น ในเมืองเชทแลนด์และเขตคอร์บี ซึ่งอาจจะเป็นเขตที่เล็กที่สุดของประเทศอังกฤษ แต่กลับมีกล้องวงจรปิดมากกว่าเมืงซานฟรานซิสโก เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของสหรัฐฯ ขณะที่ในเขตแวนส์วอร์ธซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่มีกล้องวงจรปิดมากที่สุดกว่า 1,113 ตัว มากกว่ากล้องวงจรปิดของเมืองบอสตัน ในสหรัฐฯ รวมกับเมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ และกรุงดับลินของไอร์แลนด์
เว็บไซต์ดิ แอตแลนติก รายงานว่าตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2553 งบประมาณกว่า 300 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาทถูกใช้ไปเพื่อการซ่อมบำรุงและติดตั้งกล้องใหม่ ซึ่งงบประมาณขนาดนี้จ่ายเงินเดือนให้แก่ตำรวจ 4,500 นายได้ทั้งปี อีกทั้งสถิติที่เปิดเผยออกมาจากกรมตำรวจอังกฤษพบว่าตำรวจต้องใช้กล้องกว่า 1,000 ตัวในการคลี่คลายคดีเพียง 1 คดี ก็ยิ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ และต่อต้านการนำงบประมาณมาติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพเพราะถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา