กกต.เตรียมถกการทำงานรูปแบบบอร์ดพรุ่งนี้ หลัง สนง.ชงผลศึกษา หากเอาจริงให้ยกเลิกมติ กกต.ปี 45 แบ่งกำกับ 5 ด้านกิจการ และปรับการเสนองาน-สั่งการของ กกต. ผ่านเลขาฯ หากเหลวลุ้นสลับตำแหน่งงานรับผิดชอบ ด้าน “ศุภชัย” เล็งแจงท่าทีตำแหน่งประธาน แต่ยังไม่ลาออก
วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) มีวาระการพิจารณากรณีสำนักงาน กกต.จะมีการเสนอผลการศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ กกต. และสำนักงาน กกต. ตามที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุม กกต.มีมติเมื่อวันที่ 19 ส.ค.มอบให้สำนักงานไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากผลการศึกษานั้นคณะทำงานเห็นว่าหาก กกต.จะปรับจากการทำงานจากที่แบ่งเป็น 5 ด้านมาเป็นรูปแบบบอร์ดก็ให้ยกเลิกมติ กกต.เดิมตั้งแต่ปี 2545 ที่ให้มีการแบ่งงานกันกำกับดูแลเป็น 5 ด้าน และปรับการเสนองานของสำนักงาน และการสั่งการของ กกต.ที่จากเดิม กกต.แต่ละคนจะมีรองเลขาธิการ กกต.ในด้านของตนเอง คอยรับนโยบายมาสั่งการฝ่ายปฏิบัติของด้านตนเองให้ดำเนินการ ก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นหาก กกต.แต่ละคนต้องการจะดำเนินการในเรื่องใด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานด้านใดใน 5 ด้านกิจการเดิม ต้องมีหนังสือสั่งการไปยังเลขาธิการสำนักงานฯ ที่ก็จะสั่งการต่อไปยังรองเลขาธิการในแต่ละด้าน หากผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามที่ กกต.มอบหมาย เลขาธิการก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนกรณีถ้าเป็นการสั่งการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ก็ต้องสั่งในรูปของมติ กกต.
ส่วนการเสนอเรื่องของสำนักงาน จากเดิมที่รองเลขาธิการแต่ละด้านเสนอเรื่องตรงไปยัง กกต.ด้านที่รับผิดชอบ เมื่อเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบบอร์ด การเสนองานของทุกด้านก็จะต้องเสนอไปยังเลขาธิการสำนักงาน และเลขาฯจึงจะเสนอต่อ กกต. แต่ทั้งนี้รูปแบบบอร์ดก็มีข้อเสีย คือ เมื่อไม่มี กกต.ไปกำกับดูแลเป็นด้าน ก็อาจจะเกิดปัญหาการทำงานล่าช้า เพราะไม่มีการเร่งรัดงานโดยตรง ขณะเดียวกัน หากเลขาฯ ไม่มีศักยภาพในการทำงาน การผลักดันนโยบายของ กกต.ให้เกิดความสำเร็จก็ยาก ตรงข้ามกับ กกต.กำกับเป็น 5 ด้าน แม้ไม่มีเลขา ก็มีรองเลขาในด้านที่ตนเองกำกับ คอยผลัดดันงานและนโยบายของกกต.แต่ละคนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในผลการศึกษาไม่ได้มีการเสนอว่าหาก กกต.ไม่ปรับรูปแบบการทำงานเป็นบอร์ด โดยยังคงจะทำงานเป็น 5 ด้านเช่นเดิมนั้น ถ้า กกต.ใหม่ 2 คนตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามา ควรจะมีการแบ่งส่วนงานเป็นอย่างไร เนื่องจากการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบทางสำนักงานเห็นว่าเป็นอำนาจของ กกต.ที่ต้องพิจารณาเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กกต.ครั้งนี้เป็นที่สนใจของพนักงาน กกต. เพราะนอกจากต้องการรู้ว่า กกต.จะสามารถปรับการทำงานจากที่แบ่งเป็น 5 ด้านรับผิดชอบตลอด 17 ปีมาเป็นรูปแบบบอร์ดได้หรือไม่แล้ว แต่หากมีมติไม่ปรับการทำงาน ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการเซตซีโร่ กกต. กกต.ทั้ง 5 คนกล้าที่จะมีการปรับเปลี่ยนด้านรับผิดชอบ ซึ่งรวมตำแหน่งประธาน กกต.อย่างที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้เคยแถลงไว้เมื่อวันที่ 6 ก.ย.หรือไม่ ว่า กกต.เห็นตรงกันว่าอาจมีความจำเป็นในการสับเปลี่ยนตำแหน่งมากกว่า 1 ตำแหน่งและด้านกิจการที่กำกับดูแล โดยจะรอดูผลการศึกษารูปแบบบอร์ดของสำนักงานฯ แล้วนำมาพิจารณาไปพร้อมกัน ซึ่งก็มีรายงานว่าในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.อาจมีการชี้แจงถึงท่าทีต่อตำแหน่งประธาน กกต. แต่ค่อนข้างแน่ชัดว่าจะยังไม่ใช่การลาออกตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะยื่นลาออกแล้ว