โฆษก รบ. เผย ให้ศึกษาความเป็นไปได้ให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลค่ารักษา ขรก. แทนรัฐ ยันไม่ตัดสิทธิสวัสดิการ ดูแลเต็มที่ใช้งบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แจง นายกฯ ขอให้สังคมเปิดใจ พิจารณาข้อดี - เสีย หลายประเทศใช้วิธีนี้ ทำให้เกิดความโปร่งใส เผย เงื่อนไขสิทธิต้องเท่าเดิม ไม่เกินงบที่ รบ.จ่ายอยู่
วันนี้ (25 ก.ย.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลระบบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการแทนรัฐ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิตไปศึกษาความเป็นไปได้ระยะเวลา 1 เดือน ว่า สามารถทำได้หรือไม่ โดยยืนยันว่า ทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
“รัฐบาลให้คำมั่นกับพี่น้องข้าราชการ ว่า จะไม่ตัดสิทธิสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ เพราะค่ารักษาพยาบาลเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของข้าราชการ แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องการวางรากฐานเพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืนในอนาคต”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้สังคมเปิดใจกว้าง ร่วมกันคิดพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์จนประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ โดยในหลายประเทศก็มีการใช้ระบบนี้เข้ามาดูแลสวัสดิการข้าราชการ ทำให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการใช้สิทธิซ้ำซ้อน การเวียนใช้สิทธิ หรือการเบิกยาเกินควร และช่วยบังคับให้รัฐต้องดูแลส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทางอ้อมด้วย
“ปัจจุบันข้าราชการส่วนหนึ่งต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษา แล้วนำใบเสร็จไปเบิกต้นสังกัด และบางส่วนใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงกับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ โดยเข้ารักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ ในแต่ละปีรัฐต้องใช้งบประมาณดูแลค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ 60,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จึงได้กำหนดเงื่อนไขของการศึกษาความเป็นไปได้ว่า ข้าราชการจะต้องได้รับสิทธิสวัสดิการเหมือนเดิม และค่าประกันแต่ละปีต้องไม่มากกว่าที่รัฐบาลจ่ายอยู่ หากไม่ได้ทั้ง 2 เงื่อนไข รัฐบาลก็จะบริหารเองต่อไป
ท่านนายกฯ กำชับให้กระทรวงการคลัง ไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องข้าราชการควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ของทั้ง 2 สมาคมด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์บางส่วน เพื่อให้บริษัทประกันสามารถดำเนินการได้ และจะส่งเสริมระบบ e-payment ในภาคประกันภัย ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”