โฆษก รบ. สวน นปช. ทหารไม่ว่ายุคใดก็รักษาความเป็นกลางทางการเมือง เลือกข้างความถูกต้อง ไม่นิ่งเฉยหนุนเป็นภัยความมั่นคง ย้อนดูพฤติกรรมตัวเอง ยันไร้ความคิดล้างบาง รบ. ทำตามกม. ผู้สุจริตไม่เดือดร้อน แจง รบ. ส่งเสริมให้ผู้พิการมีงานทำกว่า 3 หมื่นราย เร่งสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการปฏิบัติตาม กม. เปิดใจค้นหาศักยภาพ นายกฯ กำชับ พม. พัฒนาฐานข้อมูลคนพิการอย่างบูรณาการ
วันนี้ (18 ก.ย.) พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาแสดงความเห็นในทำนองทหารออกมาแสดงบทบาทในช่วงรัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาลประชาธิปัตย์ แตกต่างกันว่า
“ทหารไม่ว่ายุคใดสมัยใดจะรักษาความเป็นกลางทางการเมือง และเลือกที่จะอยู่เคียงข้างประเทศและความถูกต้องเสมอมาไม่เคยเปลี่ยน
การแสดงออกทางการเมือง เช่น การประท้วง เดินขบวน หากยังอยู่ในกรอบกฎหมายและเป็นไปด้วยความสงบ ทหารจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ไม่ว่ายุคสมัยที่พรรคใดเป็นรัฐบาลก็ตาม แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทหารนิ่งเฉย หรือสนับสนุนผู้มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคง ความสงบสุข และทำร้ายชีวิตผู้บริสุทธิ์ด้วยอาวุธสงครามร้ายแรง ดังนั้น ก่อนที่จะมากล่าวหาว่า ทหารปฏิบัติไม่เป็นที่ถูกใจนั้น ควรย้อนกลับไปดูการกระทำของตนเองและพวกพ้องว่าประพฤติถูกต้องหรือไม่”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกล่าวหาของกลุ่ม นปช. ที่ว่า รัฐบาล และ คสช. ต้องการจะล้างบางนักการเมืองในสังกัดของพรรคเพื่อไทย นั้น อยากเรียนว่า รัฐบาล และ คสช. ไม่มีความคิดที่จะกระทำเช่นนั้น ไม่ว่าจะต่อนักการเมืองพรรคใด หรือสังกัดใด
“บุคคลใดจะต้องโทษ ถูกดำเนินคดี ถอดถอน ยึดทรัพย์ จำคุก ก็ล้วนเป็นไปตามเหตุแห่งกรรมที่ได้กระทำขึ้นทั้งสิ้น รัฐบาลมีหน้าที่เพียงบังคับใช้กฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ผู้สุจริตประพฤติชอบทั้งหลายจะไม่เดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน”
พลตรี สรรเสริญ ยังเปิดเผยว่า ปีนี้รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้พิการได้รับการจ้างงานแล้ว 34,601 ราย ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และสถานประกอบการเอกชน รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นายจ้างในการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยมีสถานประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว 11,443 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97.07 ของสถานประกอบการทั้งหมดที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป
“สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จะต้องจ้างลูกจ้างในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน เศษของลูกจ้าง 100 คน หากเกิน 50 คน จะต้องรับผู้พิการเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งนายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้พิการ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ของสถานประกอบการ ส่วนสถานประกอบการที่ไม่รับผู้พิการเข้าทำงานตามเงื่อนไขดังกล่าว จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 120 กลุ่ม กลุ่มละ 50,000 บาท โดยจะต้องมีสมาชิก 20 คนขึ้นไป ประกอบอาชีพในพื้นที่มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน มีแผนการดำเนินงานต่อไปเป็นรูปธรรมชัดเจน และได้รับการคัดเลือกจาก พม. จังหวัด ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์แล้ว 3,015 คน”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับ พม. พัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการให้ครบถ้วน และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อความสะดวกในการจัดสวัสดิการและการพัฒนาอาชีพแก่คนพิการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
“ท่านนายกฯ ฝากถึงผู้ประกอบการให้เปิดใจค้นหาศักยภาพของลูกจ้างพิการ ซึ่งไม่แตกต่างกับคนทั่วไปที่มีข้อจำกัด มีสิ่งที่ทำไม่ได้ และมีสิ่งที่ทำได้เป็นอย่างดี จะช่วยให้ได้กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานของสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดระบบให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งนายจ้างที่ประสบปัญหาในการจ้างงานคนพิการ และคนพิการที่ประสบปัญหาการทำงานในทุกกรณี สามารถขอความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ได้”
ทั้งนี้ ผู้พิการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแสดงความประสงค์เพื่อหางานทำ ได้ที่ สำนักงานจัดหางาน ศูนย์บริการคนพิการ ทุกจังหวัด และในเว็บไซต์ตลาดงานคนพิการ