รัฐบาลสั่งมหาดไทย เร่งให้สัญชาติเด็กที่เข้าข่ายตามกฎหมาย ลดเหลื่อมล้ำ ดึงเข้าสู่สิทธิ สวัสดิการรัฐ กำชับเป้าหมายที่ไม่เกิน 1 พันคน ต้องให้เสร็จในเดือนสิงหาฯ มากกว่านั้นให้ผู้ว่าฯลงคุมด้วยตัวเอง ความสำเร็จจะเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการบริหารงานของ ผู้ว่าฯ - นายอำเภอ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งรัดโครงการกำหนดสถานะให้แก่บุคคลไร้สัญชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ให้ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นคนสัญชาติไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อเข้าสู่สิทธิในสวัสดิการของรัฐได้อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับคนไทยอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นกำลังของสังคม
“ท่านนายกฯ สั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 1,000 ราย เช่น จ.กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ส.ค. 2559 ส่วนจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เช่น จ.ระนอง กาญจนบุรี ตราด ฯลฯ ให้ผู้ว่าฯ กำกับดูแลด้วยตนเอง โดยความสำเร็จของการดำเนินงานจะเป็นเครื่องบ่งชี้ความสามารถในการบริหารงานของ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายอำเภอ เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนกลางได้ส่งรายชื่อนักเรียนให้แก่นายอำเภอ เพื่อแจ้งให้บุคคลเหล่านั้นไปยื่นคำร้องต่อนายอำเภอหรือฝ่ายทะเบียน เพื่อขอสัญชาติไทยตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ยังพบปัญหาความล่าช้า ละเลย หรือมีขั้นตอนการปฏิบัติที่เกินจำเป็น”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค. 2559 พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีสัญชาติไทย 78,175 ราย เข้าข่ายได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ 20,337 ราย มีผู้ยื่นขอสัญชาติไทยแล้ว 9,272 ราย และได้รับอนุมัติสัญชาติไทยแล้ว 5,728 ราย ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก ซึ่งนอกจากปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แล้ว ตัวนักเรียนและผู้ปกครองเอง ยังไม่ทราบข้อมูลของโครงการ นักเรียนย้ายไปเรียนต่างอำเภอ เอกสารของผู้ร้องมีรายการไม่ตรงกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานเชิงรุก โดยจัดส่งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่จากส่วนกลางลงพื้นที่ร่วมกับ จนท. ศูนย์บริหารการทะเบียนฯ รับคำร้องการขอสัญชาติไทยในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล และนำระบบไอทีเข้ามาช่วยจัดเก็บเอกสาร เพื่อความสะดวกและป้องกันการทุจริต
“ท่านนายกฯ เป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีสัญชาติ เพราะถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ หรือการค้ามนุษย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศด้วย”