โฆษกกระทรวงกลาโหม เตือนผู้แอบอ้างว่าเป็นทหาร แต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร หรือแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหาร อาจมีโทษถึงจำคุก
วันนี้ (22 มิ.ย.) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวต่อเนื่อง ถึงผู้ที่แอบอ้างเป็นทหาร รวมทั้งแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร หรือแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหาร ไปแสดงตนทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อเข้าใจผิดว่าเป็นทหาร รวมทั้งแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่ราชการทหาร ถือว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477 ซึ่งต้องระวางโทษสูงสุดถึงจำคุก จึงขอทำความเข้าใจกับผู้ที่มีพฤติกรรมชอบแอบอ้างเป็นทหาร รวมทั้งผู้ที่แต่งเครื่องแบบทหารโดยไม่มีสิทธิ์ หรือชอบแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหาร ซึ่งอาจจะตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม พึงหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชน ได้ร่วมกันสังเกต หากพบเห็นบุคคลใดที่ต้องสงสัยหรือมีพฤติกรรมตามที่กล่าวนี้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยที่อยู่ใกล้เคียง หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์กระทรวงกลาโหมทราบโดยทันที เพื่อร่วมกันลดพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่ชอบแอบอ้าง หลอกลวง บิดเบือน อันอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่สังคมต่อไป
อนึ่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477 มาตรา 6 ระบุไว้ว่า “ผู้ใดแต่งเครื่องแบบทหารตามพระราชบัญญัตินี้ หรือแต่งเครื่องแบบทหารที่ทหารยังคงใช้ในราชการอยู่ โดยไม่มีสิทธิจะแต่งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน - 5 ปี และถ้าการกระทำเช่นว่ามานี้ได้กระทำภายในเขตซึ่งประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ดี ในเวลาสงครามก็ดี ในเวลาบ้านเมืองมีเหตุฉุกเฉินก็ดี หรือเพื่อกระทำผิดทางอาญาก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี”
นอกจากความผิดฐานจงใจแต่งเครื่องแบบทหารโดยพลการแล้ว ใน พ.ร.บ. ดังกล่าวยังระบุถึงความผิดของผู้ที่แต่งกายเลียนแบบทหาร จนสร้างความเสื่อมเสียและเกิดความเกลียดชังกับทหาร โดยระบุไว้ในมาตรา 6 ทวิ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2485 ระบุว่า “ผู้ใดแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหารตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคล้ายเครื่องแบบทหารที่ทหารยังคงใช้ในราชการอยู่ อันอาจนำความดูหมิ่นเกลียดชัง หรือความเสื่อมเสียมาสู่ราชการทหารก็ดี อันอาจทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นทหารก็ดีผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าการกระทำเช่นว่านี้ได้กระทำภายในเขตซึ่งได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ดี ในเวลาสงครามก็ดี ในเวลาบ้านเมืองมีเหตุฉุกเฉินก็ดี หรือเพื่อกระทำความผิดทางอาญาก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี”