xs
xsm
sm
md
lg

สตช.สัมมนาเสริมความรู้ประชามติ รธน. “มีชัย” ชี้ปฏิรูป ตร.อันดับแรก เชื่อแก้โกงได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตช.สัมมนาเสริมความรู้ พ.ร.บ.ประชามติร่าง รธน. ผบ.ตร.สั่งทำความเข้าใจมาตราที่เกี่ยวข้อง ชี้ ศูนย์ฯ แดงมีเพื่อมุ่งขัดขวาง “มีชัย” ขอบคุณที่ประชาสัมพันธ์ร่างฯ มองปฏิรูป ตร.อันดับแรก เชื่อใช้งบไม่มากและแก้ทุจริตได้ “พรเพชร” ชี้หาก รธน.ไม่ผ่าน คำถามพ่วงให้ ส.ส.-ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ก็ไร้ผล

วันนี้ (21 มิ.ย.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ได้จัดสัมมนาเรื่องการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และมอบนโยบายบริหารราชการให้แก่หัวหน้าสถานีตำรวจ โดยมี พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยเปิดเผยว่าการสัมมนาจัดขึ้นตามแนวทางของรัฐบาล เพื่อเป็นส่วนช่วยสร้างการเรียนรู้ของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และได้กำชับให้ข้าราชการตำรวจทุกนายอ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ และทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการสร้างความเข้าใจผิดจากผู้ไม่หวังดี ส่วนความพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงประชามตินั้น มองว่าเป็นความตั้งใจที่จะขัดขวางของบุคคลกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หากพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายก็จะดำเนินการจนถึงที่สุด

ในการสัมมนา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ให้ข้าราชการตำรวจทราบถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่จะมีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้ทราบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน พร้อมย้ำถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาของสังคมที่สะสมมาเป็นเวลา 10 ปีจนถึงทางตัน

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมองว่าการปฎิรูปตำรวจควรทำเป็นอันดับแรก เนื่องจากหากสร้างระบบคุณธรรมที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้เต็มความสามารถโดยไม่ต้องขึ้นกับบุคคลบุคคลหนึ่ง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนตำรวจที่มีการปฏิรูปนั้นเชื่อว่าใช้งบประมาณไม่มากและสามารถเป็นไปได้ และยังสามารถแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้บรรยายประเด็นคำถามพ่วงของ สนช.ว่า จากร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องไว้ให้ สนช.สามารถเสนอคำถามได้ จึงมีการเสนอให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันมีมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก เพื่อความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ หากประชาชนเห็นถึงความจำเป็นและเห็นชอบ ทาง กรธ.ก็จะดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามประเด็นคำถามที่เสนอไป แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง ก็ถือว่าไม่มีผลอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น