ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ สมาชิกสงสัยการใช้อุปกรณ์ติดตามคดีละเมิดทางเพศต้องใช้ด้วยหรือไม่ หวั่นก่อเหตุซ้ำ ก่อนมีมติรับหลักการ
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. ... ตามที่ ครม.เสนอมา มีสาระสำคัญคือ การใช้กลไกการคุมประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้ได้รับการพักโทษ การลดวันต้องโทษจำคุก การจัดให้มีการทำงานบริการสังคม เพื่อให้การการปฏิบัติงานด้านการคุมประพฤติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. อภิปรายสอบถามถึงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์อื่นใดในการติดตามตัวบุคคลตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง ซึ่งขณะนี้มีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ อีกทั้งในกรณีคดีล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกายจะมีการคุมประพฤติหรือไม่
ขณะที่ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ตั้งข้อสังเกตว่า มีความผิดบางประการที่ต้องคุมประพฤติผู้ที่กระทำ ความผิด แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กอายุต่ำว่า 15 ปี คดีลักษณะนี้มีงานวิจัยระบุว่าผู้กระทำมักจะกลับมากระทำซ้ำ เช่น กรณีคดีฆ่าข่มขืน ”น้องการ์ตูน” ที่ซอยแบริ่ง ถ.สุขุมวิท ที่ผู้ต้องหาคนดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรกแต่ทำผิดหลาย ครั้งเมื่อพ้นโทษไม่มีการติดตามหรือคุมประพฤติจนกระทั่งก่อเหตุซ้ำอีก ผู้กระทำความผิดนี้เหมือนคนปกติทั่วไปเราไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นคนอันตรายในสังคม ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะมีการติดตามผู้กระทำความผิดประเภทนี้ต้องรายงานตัว หรือย้ายถิ่น ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนป้องกันบุตรหลานว่ามีคนประเภทนี้อยู่ในชุมชน จึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ควรมีการคุมประพฤติคนที่กระทำความผิดในประเภทนี้
หลังจากที่สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางจนครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 161 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 17 คนมาพิจารณาร่างกฎหมาย โดยให้เวลาดำเนินการ 60 วัน