อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชี้พายุฤดูร้อนทำปริมาณน้ำเพิ่มไหลลงสู่อ่างเก็บ ทำอากาศชื้นบินฝนหลวงง่ายขึ้น แต่พบมีบ้านชาวบ้านพัง 17 จังหวัด รวม 2,000 หลัง รับเขื่อนอุบลรัตน์-ป่าสักชลสิทธิ์น้ำน้อยจัด ยันประปาไม่มีปิดจ่ายน้ำ แต่บางหน่วยต้องทำเป็นเวลา
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.30 น. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดพายุฤดูร้อนในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ว่าจะรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งเรื่องภัยแล้ง และพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นล่าสุดตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม - 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าให้ผลทั้งในแง่บวกและลบ ในแง่บวกคือปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น มีฝนกระจายตัวในหลายจังหวัด ปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังช่วยให้มีความชื้นในอากาศ ส่งผลให้ทำฝนหลวงได้ง่ายขึ้นในช่วงนี้ ส่วนที่เป็นผลเสียคือกระทบต่อประชาชน ทำให้บ้านเรือนเสียหายซึ่งมีอยู่ 17 จังหวัด ได้รับความเสียหายประมาณ 2,000 หลัง ก็เร่งให้ความช่วยเหลือ
นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนยังเป็นไปตามแผนการจัดการน้ำ เราสามารถคำนวณได้ พื้นที่ในเขตชลประทานต่างรู้อยู่แล้ว อย่าง 5 วันที่ผ่านมาน้ำลงสู่เขื่อน 133 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่นอกเขตประทานเป็นเรื่องการจัดการของพื้นที่เอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีเขื่อนไหนที่มีปริมาณน้ำน้อยจนน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายฉัตรชัยกล่าวว่า ถ้าเป็นในภาคอีสานก็เป็นเขื่อนอุบลรัตน์ แต่อยู่ในขั้นการจัดการโดยใช้น้ำสำรอง เป็นเทคนิคที่ทางกรมชลประทานต้องอธิบายทำความเข้าใจ หรือปริมาณน้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกปีน้ำต้องเต็ม เพราะน้ำที่ไหลจากแม่น้ำป่าสักเข้าเขื่อนปริมาณ 2,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งความสามารถกักเก็บน้ำของเขื่อนอยู่ที่ 900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ไม่เต็มปริมาณแสดงว่าน้ำไหลเข้าน้อยมาก ซึ่งน้ำในเขื่อนเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งต้องได้รับการจัดการ เช่นเดียวกับน้ำนอกเขื่อน เช่น น้ำบาดาล จะต้องมีการจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนเรื่องประปาทั้งระบบนั้น อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกล่าวว่า ในระดับภูมิภาคไม่มีการปิดการจ่ายน้ำ ทั้ง 234 สถานีทั้งหมดสามารถใช้การได้ มีเพียงบางหน่วยต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา บางหน่วยก็ต้องลดกำลังการจ่ายลง รวมถึงบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาน้ำเค็มหนุน แต่ในส่วนของประปาพื้นที่นครหลวงยังไม่มีปัญหา