xs
xsm
sm
md
lg

15 ปีศาลปกครอง ยก “จำนำข้าว - คลองด่าน” ย้ำองค์กรอิสระจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
เวทีเสวนาศาลปกครอง ครบรอบ 15 ปี ชี้ องค์กรอิสระยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย “นรนิติ” เผยเป็นเครื่องเตือนใจนักการเมือง แม้ชนะเลือกตั้งเป็นผู้ปกครอง การใช้อำนาจต้องยึดหลักนิติธรรม ขณะที่ “นครินทร์” ระบุ นับวันประชาธิปไตยตัวแทนไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบ ด้าน ปธ. คตง. ยกคดีจำนำข้าว - คลองด่าน เป็นตัวอย่างที่จำเป็นต้ององค์กรอิสระตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

วันนี้ (9 มี.ค.) ศาลปกครองได้จัดอภิปรายทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี หัวข้อ “บทบาทขององค์กรตุลาการและองค์กรอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” โดย นายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในระบบการเมืองการบริหารสมัยใหม่” ตอนหนึ่งระบุว่า กระบวนการประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แค่เลือกตั้งแล้วจบ การเลือกตั้งเป็นเพียงการตัดสินขั้นแรกว่าเราจะให้ใครมาปกครอง มาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ การตรวจสอบหลังการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ นอกจากประชาชนจะตรวจสอบโดยการถอดถอนบ้าง การประท้วงบ้าง ยังมีกลไกองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้น ซึ่งสำหรับประเทศอื่น ๆ อาจไม่ต้องการ แต่กับประเทศไทยแล้วต้องการ เพื่อจะได้เตือนนักการเมืองว่า การชนะเลือกตั้งได้เป็นเพียงผู้บริหาร แต่การเป็นผู้บริหารต้องมีคุณธรรมในการบริหาร รัฐธรรมนูญปี 50 จึงได้ใส่คำว่า “หลักนิติธรรม” เอาไว้ เพื่อยืนยันว่าผู้ปกครองไม่มีสมบูรณาญาสิทธิ จึงต้องมีการตรวจสอบ โดยผู้ปกครองต้องยึดหลักนิติธรรมในการบริหาร

จากนั้นได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “บทบาทองค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” โดย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ประชาธิปไตยทางตรง มีอยู่ในทุกที่ในชีวิตประจำวันและยังเชื่อว่าประชาธิปไตยทางตรงยังทำงานได้ดีในโลกสมัยใหม่ แม้จะในบางประเทศก็ตาม ส่วนประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ใกล้ตัวก็เหมือนในนิติบุคคลอาคารชุด ที่มีการเลือกตัวแทนเข้ามาดูแล ประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ประชาชนเลือกเอง ซึ่งความคิดจะสะท้อนออกมาทางระบบเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งระบบตัวแทนนั้น ถือเป็นระบบที่เปราะบางมากในตัวเอง เพราะขึ้นอยู่กับวิธีคิดในการเลือกตัวแทน และถ้าคิดดี ๆ ไม่มีใครเป็นตัวแทนเราได้จริง ๆ ซึ่งระบบประชาธิปไตยตัวแทนนับวันประชาชนจะไม่มีความไว้วางใจ จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตรวจสอบ ขณะที่ในสภาวะแบบนี้ทิศทางการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ได้มีเฉพาะศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีสื่อมวลชน สมาคมวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน ซึ่งในส่วนของศาลก็ต้องทำให้พอควรไม่มากไป น้อยไป

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อบ้านเมืองยังมีนักการเมือง ก็จะต้องมีการตรวจสอบ อย่างศาลก็ยังมีการสร้างระบบศาลคู่ คือ ศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง โดยศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบการออกคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชา มีต่อผู้น้อย ซึ่งสังคมไทยมีค่านิยมที่เรียกว่า ผู้น้อยจะมาตรวจสอบผู้ใหญ่ได้อย่างไร แต่การมีศาลปกครอง ทำให้คุ้มครองสิทธิผู้น้อยด้วยว่าการจะสั่งการใดๆ ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่เพียงอ้างความเหมาะสม และนอกเหนือจากศาลแล้วก็ยังต้องมีองค์กรอิสระ เพราะระหว่างอำนาจตุลาการกับองค์กรอิสระก็มีเส้นแบ่งขณะที่องค์กรอิสระ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความยืดหยุ่นช่วยเรื่องการตรวจสอบได้ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่น กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นหลักในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ตรวจสอบรายรับรายจ่าย ตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าว สตง. เคยทำหนังสือไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ ส่งให้รัฐบาลว่าโครงการนี้ไม่ควรมีต่อไป จะเป็นการทำลายระบบ , ชาวนาไม่ได้พัฒนา และการระบายข้าวจะเกิดความล่าช้า และการทุจริต แต่สุดท้ายก็ไม่มีการยับยั้ง กระทั่งกลายเป็นคดีที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา นอกจากนี้ ยังมีคดีในอดีต เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ตั้งใจจะทำบำบัดน้ำเสียเจ้าพระยาตอนล่าง 2 ฝ่าย คือตะวันออก ที่พระสมุทรเจดีย์ และตะวันตกที่บางปู ซึ่งเริ่มในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลงูเห่า ก็มีการย้ายที่ทำโครงการฝั่งตะวันตกจากบางปู ไปที่คลองด่าน อ.บางบ่อ รวมทั้งเพิ่มงบประมาณจากเดิม 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 บาท ซึ่งการตรวจสอบพบชื้อที่ดินที่กลุ่มรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ด้วย ดังนั้น ในความจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากศาลปกครองที่มีจะอำนาจชี้ขาดการออกคำสั่งที่ไม่ชอบ หรือขัดกฎหมาย

ดร.ฤทัย หงส์สิริ อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่คิดว่าศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเต็มที่นั้น จริง ๆ แล้วศาลไม่มีอำนาจขนาดนั้น เรามีขอบเขตคือตรวจสอบเฉพาะการใช้อำนาจทางปกครองโดยตุลาการ แต่ศาลปกครองไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจบริหารตรวจสอบฝ่ายปกครอง ตัวอย่าง ป.ป.ช. เดิม คือ ป.ป.ป. ที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ สามารถจับข้าราชการซี 5, ซี 8 จนถึงผู้บริหารอธิบดี รัฐมนตรีได้ โดยเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้กำหนดให้มีองค์กรเหล่านี้ และมีความเป็นอิสระในการตรวจสอบ โดยใช้อำนาจบริหารตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจตุลาการเหมือนศาล ซึ่งศาลจะมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ ต่อเมื่อคดีเข้าสู่ศาล ไม่ใช่ว่าศาลอ่านหนังสือพิมพ์เจอเรื่องทุจริตแล้วลงไปตรวจสอบได้เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น