xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน สู่การคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน หลัง กมธ.แก้ไขแล้ว เล่นดนตรีแสดงความสามารถไม่ถือเป็นขอทาน แต่ต้องแจ้ง พนง. แจงใช้คำว่า “คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต” ให้สอดคล้องชื่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีหน้าที่ดูแล ก่อนมีมติเห็นชอบร่างฯ

วันนี้ (4 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หลังจากการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการแล้ว มีทั้งหมด 26 มาตรา มีการปรับแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า “สงเคราะห์” เป็นคำว่า “คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต” และการเพิ่มตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นคณะกรรมการควบคุมการขอทาน โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้คือ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน โดยไม่นับการขอกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรว่าด้วยกฎหมายควบคุมการเรี่ยไร และไม่รวมถึงการปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรทางศาสนา ส่วนการเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง ไม่ถือเป็นการขอทาน แต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้น เพื่อให้ออกใบรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีผู้ทำการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ ให้พนักงานเจ้าหน้าทีประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

การพิจารณาในชั้นวาระที่ 2 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้อภิปรายตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงแก้ไขคำว่า “สงเคราะห์” เป็นคำว่า “คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต” ไม่ใช้คำว่า “ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต” แทน เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยนายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า กรมดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลเฉพาะคนพิการ ส่วนคนขอทานจะอยู่ในการดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะมีหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยการการปฏิบัติงานของคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ในการคัดกรองบุคคลที่ทำการขอทานในกรณีที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ที่ต้องส่งไปดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะต่อไป

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาในวาระที่ 2 ที่ประชุม สนช.ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ... ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 178 ต่อ 2 งดออกเสียง 7 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น