xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิสาร” หวัง กรธ.ฟังเสียงทักท้วงปรับแก้ร่าง รธน.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วุฒิสาร ตันไชย
เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า เปิดสัมมนาร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับการปฏิรูปประเทศ หวัง กรธ.ฟังเสียงทักท้วง ขณะที่ กรธ.ระบุรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจยาวกว่าเดิม

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (24 ก.พ.) สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศ” ครั้งที่ 1 เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน สถาบันการเมือง ศาล และการตรวจสอบ

โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า การทบทวนว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่นี้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากวิชาการอย่างไรจะเป็นเรื่องที่ดีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยสถาบันพระปกเกล้ามีการกำหนดจัดการสัมมนาเพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ ภาคการเมือง สถาบันการศึกษาต่างๆ รวม 3 ครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นการสัมมนาที่สร้างสรรค์และมีข้อเสนอนะต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป และหวังว่า กรธ.จะฟังอย่างได้ยิน

จากนั้นนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ปาฐกถาพิเศษมีใจความตอนหนนึ่งว่า จากที่คณะอนุฯลงไปรับฟังความเห็นพบว่า ประชาชนขาดความเชื่อถือในรัฐบาลและมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างคำว่ารัฐและรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา หลายเรื่องที่รัฐบาลพึงกระทำ แต่ไม่ได้กระทำ ด้วยความไม่ไว้ใจรัฐบาล จึงทำให้ขาดความเข้าใจแนวทางที่ กรธ.นำเสนอ คือ การนำสิทธิเสรีภาพไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก เรียกร้องให้นำบทบัญญัติในหมวดหน้าที่ของรัฐ กลับไปบัญญัติหมวดสิทธิเสรีภาพตามเดิม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อุปมาอุปมัยไว้ว่า แต่เดิมคนที่อยู่ภาคเหนือหน้าหนาวมีผ้าห่มขจัดความหนาวให้หมด แต่พอรัฐไปทำเครื่องทำความร้อนให้ ประชาชนรู้สึกว่าดี แต่ไม่อุ่นใจ เพราะถ้าไฟฟ้าดับประชาชนจะไม่หนาวหรือ แม้จะมีเครื่องทำความร้อน แต่ประชาชนยังอยากได้ผ้าห่ม

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญเนื้อหาบางส่วน กรธ.ได้ดึงออกจากบทบัญญัติที่เคยได้จัดทำไว้ เพราะครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เคยมีในปี 2540 ปี 2550 แล้ว แต่เมื่อประชาชนรู้สึกว่าขาดหายก็นำกลับมาใส่ในเนื้อหาตามเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติจะมีความยาวมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น