xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์ “ประยุทธ์” มาตรฐานสากล! “สรรเสริญ” แจงจัดระเบียบสื่อ แนะตกลงกันก่อนถาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงจัดระเบียบสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล หวังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นสากล เปรียบผู้นำต่างประเทศยังใช้วิธีนี้ แนะผู้สื่อข่าวพูดคุยกันก่อนที่จะซักถาม หลีกเลี่ยงประเด็นสร้างความขัดแย้ง

วันนี้ (17 ก.พ.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการปรับปรุงรูปแบบการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงบรรยากาศในการแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ว่า เหตุใดบางครั้งแหล่งข่าวหรือผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งหมายรวมถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีตลอดจนผู้ให้ข่าวในหลาย ๆ ระดับ จึงแสดงความไม่พอใจต่อคำถามของผู้สื่อข่าว โดยแนะนำให้มีการจัดระบบใหม่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีความเป็นสากล

“ทั้งนักวิชาการ พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนเอง ตั้งคำถามต่อการจัดระบบของสำนักโฆษก และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อในการซักถาม โดยเสนอแนะให้ใช้โอกาสนี้ร่วมกันสร้างนวัตกรรม วิธีการใหม่ เพื่อปรับภาพลักษณ์การแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน สร้างบรรทัดฐานใหม่ของสังคมไทย ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับข้อแนะนำจากหลายฝ่าย จึงได้จัดทำแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพื่อขออนุมัติหลักการจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติทางราชการที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเสนอขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ปรับปรุงตามที่เป็นข่าว จากนั้นเมื่อนายกฯ เห็นว่า ข้อเสนอของทีมโฆษกมีความเป็นไปได้และเกิดประโยชน์ จึงได้อนุมัติในหลักการ

ทั้งนี้ ประชาชนอาจเปรียบเทียบความเหมาะสมได้จากกรณีที่ผู้นำต่างประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะพบว่า ผู้สื่อข่าวจะยึดหลักปฏิบัติที่เป็นสากล คือ การแนะนำตัว และใช้ไมโครโฟนในการซักถาม รวมทั้งมีการจัดหมวดหมู่และลำดับของคำถาม เพื่อลดความซ้ำซ้อน และป้องกันความสับสนในการสื่อสาร แนวทางนี้จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการแถลงข่าวของไทยบ้าง เนื่องจากบางครั้งผู้สื่อข่าวอาจตั้งคำถามไม่เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกัน และคำตอบเดียวกัน จึงอยากให้ผู้สื่อข่าวพูดคุยกันก่อนที่จะซักถาม โดยเลือกเฉพาะประเด็นสำคัญหรือเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ของประเทศ หลีกเลี่ยงประเด็นที่จะสร้างความขัดแย้ง ส่วนเรื่องปลีกย่อยอาจนำไปซักถามเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ส่วนจำนวนคำถามที่กำหนดไว้ 4 - 5 ข้อนั้น เป็นเพียงกรอบแนวทางเบื้องต้นสำหรับหมวดหมู่ของคำถามที่ควรจะครอบคลุมประเด็นความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และข้อกฎหมายซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพูดคุยกับผู้สื่อข่าวล่วงหน้าก่อนการแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์แต่ละครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น