xs
xsm
sm
md
lg

“ดอน” ติงพวกวิจารณ์ให้เข้าใจร่าง รธน.เพื่อแก้คอร์รัปชัน เชื่อไปสหรัฐฯ ถก “ยูเอส-อาเซียน” ได้ประโยชน์ทั้งภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดอน ปรมัตถ์วินัย
รมว.ต่างประเทศ ย้อนพวกวิจารณ์ร่าง รธน. มีรัฐบาลชุดไหนเอาใจใส่ร่าง รธน.เท่าชุดนี้ แนะให้เข้าใจร่างขึ้นมาเพื่อแก้คอร์รัปชันที่เป็นจุดอ่อนของไทย เชื่อหากทำได้จะแก้ปัญหาในอดีตได้ แนะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงใส่ในบทเฉพาะกาล ส่วนข่าวม็อบรอต้าน “บิ๊กตู่” เยือนสหรัฐฯ ประชุมผู้นำยูเอส-อาเซียน แค่ข่าวลือ เชื่อเป็นประโยชน์ทั้งไทยและภูมิภาค

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวโจมตีร่างรัฐธรรมนูญห่วยแตกและถอยหลังเข้าคลองว่า เคยเห็นรัฐบาลใดเอาใจใส่เรื่องรัฐธรรมนูญเท่ารัฐบาลนี้หรือไม่ นี่เป็นการทำงานของรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เอาใจใส่กับประโยชน์ของประเทศชาติ ฉะนั้นใครก็ตามที่วิจารณ์โดยไม่เข้าใจก็คงต้องเข้าใจให้ดีกว่านี้ เพราะทุกฝ่ายตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้ประเทศย้อนกลับไปสู่วังวนที่เป็นปัญหา

ส่วนกระแสคัดค้านในร่างรัฐธรรมนูญขอให้ไปถามเสียงค้านว่ามาโดยพื้นฐานอะไร การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ได้รับเสียงตอบรับดีจากต่างประเทศ เพราะคอร์รัปชั่นเป็นจุดอ่อนของไทยที่มีมาทุกยุคทุกสมัย เกิดช่องว่างให้ใครใช้ประโยชน์จากเราจนทิ่มแทงประเทศ

นายดอนกล่าวว่า ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่ถูกวิจารณ์มากนั้น ต้องมองข้ามไปจุดหนึ่งว่าในที่สุดแล้วบ้านเราจะลุกยืนได้อย่างสง่างามมั่นคงต้องแก้ที่จุดอ่อนก่อน หากแก้จุดอ่อนได้ ด้านต่างๆ ก็จะเข้ารูปเข้ารอย คนต่างชาติรับรู้ว่าเราแก้ปัญหาประเทศได้ถูกจุด การแก้ปัญหาประเทศเรื่องคอร์รัปชันเป็นการนำประเทศไปสู่หลักชัย ไปสู่ธรรมาภิบาลและความถูกต้อง พร้อมขจัดปัญหาในอดีตให้หมดไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงครหาว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่มีใบสั่งหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าคนที่กล่าวหาเช่นนั้น เข้าใจถูกต้องหรือไม่ ว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการในบ้านเราในวันนี้คือประเทศไทยที่มีฐานที่มั่นคง และเดินหน้าไปอย่างสง่าผ่าเผยเพื่อประโยชน์ของลูกหลาน น่าเสียดายคนที่รับรู้เรื่อง กรธ.ไม่ได้รับรู้อย่างเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาต่างๆ บางทีเป็นไปตามกระแส พอมีกระแสใดกระแสหนึ่งก็เผลอเดินไปตามเส้นทางนั้น โดยลืมจุดหมายปลายทาง หวังว่าคนไทยจะกลับมาตั้งจิตสำนึก และมองอีกด้านว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติภายหน้าคืออะไร เพราะเราผ่านวิกฤตมามากถึงเวลาที่ต้องข้ามพ้นได้แล้ว อย่าซ้ำอยู่กับปัญหาเดิมๆ

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศมีข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญในจุดใดบ้าง นายดอนกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ มีส่วนที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการทำสนธิสัญญาข้อตกลงต่างๆ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เราอยากจะเห็นเพราะเรารับทราบหลังจากที่ประเทศไทยได้เป็นประธานกลุ่ม T 77 ก็พบว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และเป็นโจทย์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนและนานาประเทศต่างชื่นชมเพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้น หากเราสามารถนำสูตรสำเร็จที่เรามีซึ่งเคยใช้ในที่ต่างๆ แล้วนำเสนอให้เขารับรู้รับทราบนำไปลองปฏิบัติจะมีค่าอย่างมาก ซึ่งในรายละเอียดส่วนนี้อาจมีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลก็ได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติไว้ แต่แค่พูดในเชิงแนะนำให้ใช้หรือพิจารณาแต่สิ่งที่อยากจะเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือรัฐบาลนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวนโยบาย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศคิดเช่นนี้เพราะเรารู้ว่าถ้าเราใช้สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของไทยมาแก้ไขนานาปัญหาที่มีอยู่มาในอดีต ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นวิธีหนึ่ง จะทำให้ปัญหาต่างๆที่เราเคยประสบจะค่อยๆจางหายไป

นายดอนยังกล่าวถึงการเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ US-Asean ที่สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 14-18 ก.พ.นี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งมีบางกลุ่มบางองค์กรเตรียมออกมาต่อต้านว่า เป็นเพียงข่าวซึ่งตนคิดว่าไม่มีเพราจุดที่เขาจะประชุมเป็นจุดที่จัดไว้เป็นการเฉพาะทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการดูแลไม่ให้มีการชุมนุมหรือประท้วงต่อต้าน

ส่วนการประชุมเวทีนี้จะถือเป็นโอกาสจะชี้แจงให้ชาวโลกเข้าใจถึงร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำสู่ประชาธิปไตยหรือไม่นั้นก็มีโอกาสแต่อาจจะไม่ได้โดยตรง เนื่องจากเนื้อหาที่ประชุมเป็นเรื่องของภูมิภาค แต่แน่นอนต้องมีการเปิดช่องที่เราสามารถบอกกล่าว ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งภูมิภาค ว่าเรากำลังเดินไปสู่จุดใด และการที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมายปลายทาง มันจะมีผลดีต่อภูมิภาคอย่างไร

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยถือว่าได้ประโยชน์เป็นจำนวนมากเพราะถือเป็นงานแรกหลังจากรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและได้หารือกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จึงอยู่ในฐานะที่แลกเปลี่ยนอะไรกันได้อย่างครบครัน ซึ่งจะพบปะหารือกันในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสถานการณ์ภายในภูมิภาคและเวทีนี้จะทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจอาเซียนได้ดีขึ้นเพื่อสร้างเจตนาร่วมกันในการไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้งทางสหรัฐฯ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะสหรัฐฯ หารือกับเราในกรอบของอาเซียนมาแล้วหลายครั้งในยูเอ็นก็พบกันหลายหน เรานั่งประชุมกับนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็หลายหน หรือพบปะเป็นการภายในกับรัฐมนตรีของสหรัฐฯ ก็หลายครั้งในเวทีต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น