“สวนดุสิตโพล” เผยชาวบ้านร้อยละ 75.05 ระบุนักการเมืองวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเหตุเกี่ยวกับผลประโยชน์โดยตรง ร้อยละ 43.48 ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 77.06 เชื่อนายกรัฐมนตรีพูด
วันนี้ (7 ก.พ.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,348 คน ต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยถามว่าคิดอย่างไรที่นักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 75.05% เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยตรง เป็นเรื่องผลประโยชน์ การได้เปรียบเสียเปรียบ62.58% เป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม 58.35% ขอให้นักการเมืองแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์และบริสุทธิ์ใจ 49.48% ควรรับฟังและนำมาพิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และ 44.54% รู้สึกเบื่อหน่าย มีแต่ความวุ่นวาย ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก
เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองที่ออกมาพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด 43.48% ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว พูดจากมุมมองของตนเอง เป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ฯลฯ 25.96% ไม่เชื่อ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ กลัวการได้เปรียบเสียเปรียบกันมากกว่า ฯลฯ 22.40% ค่อนข้างเชื่อ เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ น่าเชื่อถือ ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ฯลฯ และ 8.16% เชื่อมาก เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ รู้และเข้าใจปัญหาบ้านเมืองเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นข้อดี-ข้อเสียของกฎหมาย ฯลฯ
เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อหรือเห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองที่ชื่นชอบมากน้อยเพียงใด 36.87% ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ฯลฯ 30.50% ค่อนข้างเชื่อ เพราะเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ มีประสบการณ์ทางการเมืองมานาน ฯลฯ 22.00% ไม่เชื่อ เพราะเป็นเกมการเมือง เป็นบทบาทของนักการเมืองอย่างหนึ่งที่จะต้องออกมาสร้างกระแส ฯลฯ และ 10.63% เชื่อมาก เพราะรู้สึกชื่นชอบและเชื่อมั่นในตัวท่าน เป็นผู้ที่หวังดี อยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ฯลฯ
เมื่อถามว่า ประชาชนเชื่อบุคคลหรือหน่วยงานใดที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 77.06% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 74.59% นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 66.47% นักวิชาการ /อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ /ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 64.12% ผู้อาวุโสทางการเมือง /หัวหน้าพรรคการเมือง /ตัวแทนพรรคการเมือง และ 59.41% ข้าราชการทางการเมือง /สนช. /สปช.