“ธวัชชัย สมุทรสาคร” เสนอ คสช. สรรหา ส.ว. เองใน 5 ปีแรก อ้างมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี ด้าน สปท. เสื้อแดง โต้กลับโฆษก กรธ. ประชามตินอนมา ออกมาใช้สิทธิเกิน 80% หยันใช้ไม่ได้จริง เหน็บอยู่บนหอคอยงาช้าง เตรียมจัดหนักซักฟอก หันด่านักการเมืองทุนสามานย์แต่ไร้ทางออก
วันนี้ (5 ก.พ.) พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงข่าวว่า หลังจากที่ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นแล้ว ทางกลุ่มของตนเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะให้ถูกใจทุกส่วนคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งปัญหาภาพรวมของบ้านเมืองที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องวินัยของคนในชาติ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการปราบทุจริตและการโกง และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด ซึ่งเป็นเรื่องดีหากไม่กำหนดไว้อาจทำให้ประเทศล้าหลังได้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ 20 ปี ในระยะ 5 ปีแรก ควรให้ ส.ว. มีที่มาจากการสรรหาจากบุคคลทุกสาขาอาชีพ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นเดียวกับการสรรหาสมาชิก สปท. ซึ่งจะต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงและสังคมให้การยอมรับ
ทั้งนี้ ระยะการทำงานพัฒนาประเทศนั้น นอกเหนือจากโรดแมป 1 ปี 6 เดือนแล้ว ยังจะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี ซึ่งแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 5 ปี ดังนั้น จะทำให้ ส.ว. สรรหา จะเข้ามาทำหน้าที่ใน 5 ปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ด้วย ก็จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และประเทศมีความเจริญมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึงกรณี นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มั่นใจว่า หาก มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญถึง 80 เปอร์เซ็นต์ รัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบประชาชน ว่า ตรรกะนี้ไม่จริง ใช้ไม่ได้จริงในพื้นที่ ท่านคงมุดอยู่แต่ในห้องบนหอคอยงาช้างนานไปหน่อย ควรเอาเวลาไปแก้ข้อท้วงติง ผ่อนหนักข้อวิจารณ์แต่ละมาตรา ให้เป็นเบาดีกว่า กรธ. บอกนักการเมือง กลัวการบัญญัติการปราบโกงในรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ตนฟัง นักการเมืองไม่ได้กลัวเรื่องที่ว่า แต่กลัวเรื่องการโกงอำนาจมากกว่า
“กรธ. อย่าย่ามใจ ออกมานอกห้องฟังคนอื่นบ้าง เพราะเท่าที่รู้ วันที่ 8 - 9 ก.พ. สปท. เตรียมวิจารณ์ท้วงติงร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นแน่ ผมเตรียมพูด และถามเหตุผลที่พวกท่านมักบ่นกันแต่วลีที่ว่า ที่ผ่านมา นักการเมืองตกอยู่ในอำนาจ ถูกครอบงำ ตกเป็นทาสนายทุนสามานย์ เป็นเผด็จการรัฐสภา เวลาใส่ร้ายก็ด่านักการเมืองแบบนี้ แต่พอมีโอกาสทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญจริง ๆ กลับไม่บัญญัติทางแก้ไขเอาไว้ ไร้มาตรการทำให้เห็นว่า จะเอานักการเมืองกลับมาเป็นสมบัติของประชาชน เป็นผู้แทนฯ อย่างแท้จริงได้อย่างไร” นายสมพงษ์ กล่าว