“ประวิตร” ยังไม่เห็นจดหมายแอมเนสตี้ฯ รณรงค์ให้สมาชิกทั่วโลกจี้ “ประยุทธ์” ยกเลิกข้อกล่าวหาพวกป่วนเมือง ชี้เป็นเรื่องภายในของไทย ไม่เคยละเมิดสิทธิใคร ยันประเทศส่วนใหญ่เข้าใจ ไม่ท้อแม้มีปัญหาหลายด้าน มั่นใจ กรธ.ร่าง รธน.ออกมาดี ไม่ตามใจนักการเมือง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และยกเลิกข้อกล่าวหาของนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดว่า ตนยังไม่เห็นจดหมายดังกล่าว แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องภายในประเทศของเราที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และเราก็ไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนของใคร เหตุการณ์ภายในประเทศของเรามีความชัดเจนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและสงบภายในประเทศของเราเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ เราทำมาปีกว่าแล้ว ตนคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เขาน่าจะเข้าใจเรา
“ต่างประเทศส่วนใหญ่เขาเข้าใจเรา ที่เขาเดินทางมาไม่ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ รัฐมนตรีของต่างประเทศ หรือผู้บัญชาการทหาร ก็ไม่เห็นว่าใครจะมีความขัดแย้งกับเรา เขามีความเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องภายในของไทย และเราทำให้เกิดความสงบขึ้น ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ดูได้จากการสำรวจของโพลต่างๆ ผมคิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว ดังนั้นขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ และมีความเจริญต่อไปในอนาคต ทางรัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคง”
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนคิดว่าคงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะทุกคนมีความเข้าใจดี มีเพียงบางคนที่ต้องการออกมาเรียกร้องในเรื่องประชาธิปไตย ทาง คสช.ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะเรากำหนดโรดแมป และในขณะนี้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็กำลังดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ทุกอย่างกำลังเดินไปได้ดี
อย่างไรก็ตาม การทำงานทั้งหมดของรัฐบาลยังไม่สามารถระบุได้ว่าสำเร็จเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าขณะนี้ประเทศสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามที่นายกฯ ได้วางโรดแมปต่างๆ ไว้ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั้งประเทศก็ทำให้บ้านเมืองเราสงบ ตนมองว่าถ้าสถานการณ์ภายในประเทศมีความสงบ ทุกอย่างก็เดินต่อไปได้ ตนก็เข้าใจคนที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ต้องขอเวลาในการสร้างให้เกิดความมั่นคงต่อไปในอนาคต
“อยากให้นักการเมืองหรือคนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้เข้าใจ ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะ คสช.หรือรัฐบาลช่วยกันผลักดันงานต่างๆ ให้เป็นไปตามโรดแมป และถ้าคนในประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าจะต้องเดินแบบนี้ ผมก็เห็นด้วยว่าดี แต่จะให้ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ หากทำแล้วเกิดความเจริญให้แก่ประเทศชาติ ผมว่าต้องยอมรับกัน อยากให้รอทุกอย่างเป็นไปตามแผนของโรดแมป”
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะประสบปัญหาหลายด้านทั้งภัยแล้ง และเรื่องการเกษตร แต่เราก็ยังเดินไหว ทุกอย่างก็ต้องแก้ไป บางปัญหาเช่นภัยแล้งไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลก็ต้องแก้ไขต่อไป ตลอดจนเรื่องการปลูกข้าว หากปลูกไม่ได้ก็ต้องปลูกที่ใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน ในส่วนที่รัฐบาลพอจะสนับสนุนได้ก็ดำเนินการไป ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง และภาพรวมเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้เสียหาย และดีขึ้นตามลำดับ แต่จะทำให้เกิดความรวดเร็วจนประชาชนร่ำรวยคงเป็นไปไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกท้อหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ไม่รู้จะท้ออย่างไร เพราะต้องเดินหน้าต่อไป เหลือเวลาอีกปีกว่า ขณะนี้ก็เดินมาได้พอสมควรแล้ว ทางนายกฯ เองก็เสียสละในการบริหารประเทศมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งไม่ใช่คนทำจะทำได้ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากทุกคนพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงที่ทุกคงได้เห็นว่าหากประเทศมีความสงบเราก็เดินไปได้ ตนก็รู้สึกพอใจในระดับหนึ่งเพราะทำให้ประเทศดีขึ้น
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายการร่างรัฐธรรมนูญว่า เราดูแลสถานการณ์อยู่แล้ว ทุกอย่างเดินได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครพอใจอะไรไปทุกอย่าง แต้ถ้าไม่พอใจก็ต้องมาชี้แจงกัน ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เองก็ดูภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุด เมื่อมีการเลือกตั้งจะได้อยู่กันได้นานๆ ไม่ใช่ต้องไปทำตามความต้องการของพรรคการเมือง เพราะ กรธ.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น ผ่านอะไรมามากมาย และต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุดอยู่แล้ว หากถามว่าจะมีคนต่อต้านหรือไม่ก็ต้องมีอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา แต่รัฐธรรมนูญถือเป็นกติกากลาง ไม่ใช่ว่าคนจะเห็นด้วยทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้
“ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบ สิ่งใดที่สามารถออกมาได้ ก็ให้ออกมาแล้วมาสอบถามว่าใครมีความรู้สึกอย่างไร อยากให้ใจเย็น ทั้งนี้ คสช.ก็ยังไม่ได้เตรียมแผนรองรับหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะเป็นหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ที่จะต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป”