โฆษก กรธ.เผย รธน.ทั้งฉบับมีไม่เกิน 261 มาตรา กำหนดให้ กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง เลื่อนได้ ห้ามตุลาการ-กก.องค์อิสระนั่ง ส.ว. ให้ กมธ.เท่านั้นมีอำนาจเรียกบุคคลแจง ปรับ กม.วินัยการคลัง เป็น พ.ร.บ.ทั่วไป พร้อมเตรียมแผนพีอาร์ รธน. “มีชัย” แถลงเอง 29 ม.ค. 3 ก.พ.ถกแม่น้ำ 3 สาย ไม่มีคิวแจงพรรคการเมือง ย้อนขู่คว่ำร่างหลอนกันไปเอง
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงภายหลังการประชุม ว่าที่ประชุม กรธ.ทบทวนถ้อยคำไปแล้ว 146 มาตรา ส่วนใหญ่มีการปรับลดมากกว่าเพิ่มจำนวนมาตรา จึงทำให้รวมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีไม่เกิน 261 มาตราแน่นอน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 26-28 ม.ค. กรธ.จะทำการประชุมทั้งเช้าและบ่ายเพื่อพิจารณาทบทวนถ้อยคำรายมาตราและบทเฉพาะกาลให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ก่อนเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 29 ม.ค.ต่อไป โดยวันนี้ กรธ.ได้ทำการทบทวนในหมวดรัฐสภา ส่วน ส.ส., ส.ว. และบทที่ใช้แก่สองสภา กรธ.ได้กำหนดให้ กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง และเลื่อนวันเลือกตั้งได้ โดยให้การประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งไม่ต้องระบุวันที่ เพื่อให้ กกต.มีความคล่องตัว หากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนเลือกตั้งจะได้ไม่ต้องตรา พ.ร.ฎ.ใหม่ ส่วนคุณสมบัติต้องห้าม ส.ว.ก็ได้บัญญัติไว้แล้วว่า ห้ามตุลาการศาล และกรรมการองค์กรอิสระเข้ารับการสรรหา ส.ว. สำหรับอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงก็กำหนดให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) เท่านั้นที่มีอำนาจเรียกตัวบุคคลเข้าชี้แจง ส่วนกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ก็ได้ลดระดับจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็น พ.ร.บ.ทั่วไป ให้รัฐบาลเลือกตั้งเป็นคนกำหนดเนื้อหาเอง
นายอุดมกล่าวว่า กรธ.ยังได้เตรียมแผนประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้วคือ วันที่ 29 ม.ค. เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 ห้องประชุม 213 - 214 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.จะทำการแถลงเนื้อหาร่างแรกรัฐธรรมนูญ จากนั้นวันที่ 3 ก.พ. เวลา 13.00 น. กรธ.จะทำการประชุมร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อชี้แจงเนื้อหา ทำความเข้าใจ ไม่มีการโต้เถียง ไม่มีการลงมติ และวันที่ 5 ก.พ. เวลา 09.00-12.00 น. ที่อาคารรัฐสภา กรธ.จะพบปะกับตัวแทนสภาองค์กรชุมชน ส่วนการหารือชี้แจงกับพรรคการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็น เพราะปกติแล้ว หากพรรคการเมืองมีข้อเสนอแนะอะไร ก็จะเข้ามาหารือกับ กรธ.
เมื่อถามว่า กรธ.เตรียมรับมือพรรคการเมืองใหญ่ขู่คว่ำประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า นักการเมืองก็หลอนกันไป ส่วนที่ฝ่ายการเมืองเสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้ชัดเจนปมประชามติ และทางออกต่อไป หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั้น เชื่อว่ารัฐบาลต้องรู้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนตัวมองว่า ควรแก้ไขให้ชัดเจนในปมออกเสียงประชามติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีความภายหลัง ส่วนพรรคเพื่อไทยที่คิดออกมาเป็นสูตรจนถึงขั้นประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน ก็อยากบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง คสช. เขาถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่