ผจก.โครงการช้างคืนถิ่น เผยความสำเร็จหลังครบรอบ 6 ปี ระบุงบปี 59 ควาญนำช้างเข้าร่วมโครงการแล้ว 200 เชือก เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยึดแนวพระราชดำริ 7 ข้อ สร้างฐานการเรียนรู้สู่อนาคต
วันนี้ (15 ม.ค.) นายวันชัย สวาสุ ผู้จัดการโครงการ “คชอาณาจักร” จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากนโยบายนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ที่จัดให้มีการก่อตั้งโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ หรือโครงการ “ช้างคืนถิ่น” เพื่อดูแลแก้ปัญหาการนำช้างออกไปเร่ร่อน โดยให้ควาญช้างนำช้างกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อให้อยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวคิด “ควาญที่มีความสุขย่อมดูแลช้างด้วยความรักและเอาใจใส่” โดยควาญช้างที่นำช้างที่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่เพียงแค่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทางโครงการยังสนับสนุนการสร้างอาชีพให้กับ พวกเขา เช่น การนำมูลช้างมาทำกระดาษสา ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกทาง
นายวัชชัยกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินมาครบ 6 ปีแล้ว โดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน จำนวน 3,000 ไร่ ดำเนินงานโดยมีการเปิดรับสมัครชาวช้างเข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น มีการจัดสรรที่อยู่ให้กับชาวช้างที่ร่วมโครงการ พร้อมเงินเดือนๆ ละ 10,800 บาทต่อเชือก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน โดยในปีงบประมาณ 2559 โครงการได้เปิดรับสมัครควาญช้างในการนำช้างเข้าร่วมโครงการไปแล้วจำนวน 200 เชือก
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดการดำเนินงานนำช้างคืนถิ่น ไปสู่ฐานการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวชม โดยเฉพาะฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 ฐานการเรียนรู้ ดังนี้ 1. แหล่งเรียนรู้พอเพียงตามรอยพ่อ 2. ศาลปะกำ 3. โรงผลิตกระดาษจากมูลช้าง 4. ท่องไพรศึกษาธรรมชาติ 5. วิถีชีวิตคนกับช้างกูยอาเจียง 6. การแสดงความสามารถช้าง และ 7. การอนุรักษ์ช้างไทย