ประชุม กรธ. โฆษกแจงมีแนวทางเปลี่ยนถ้อยคำว่าประเพณีการปกครอง เหตุมีปัญหาในอดีต พร้อมมีมติไม่บัญญัติ พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่บัญญัติหลักคุ้มครองเห็นชอบใช้คำว่าบุคคล เพื่อให้ รธน.ชัดเจนคุ้มครองชาวไทย บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งถวายสัตย์ฯทำหน้าที่ระหว่างรอได้
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล เลควิว อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เริ่มตั้งแต่หมวดที่ 1 บททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ไล่เรียงตามมาตรา โดยเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาได้ ซึ่งนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.เปิดเผยว่า การพิจารณาวันนี้วางกรอบไว้เบื้องต้นจะพิจารณาตั้งแต่หมวดที่ 1 บททั่วไป, หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยประเด็นที่พิจารณากันในช่วงเช้า มีการหารือกันเกี่ยวกับการร่างเนื้อหาในลักษณะเดียวกับมาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรนำบทบัญญัติลักษณะนี้ไปไว้ในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย และมีแนวทางจะปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ไม่ใช้คำว่าประเพณีการปกครอง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาในอดีต แต่อย่างไรก็ตามทาง กรธ.จะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้รอบด้าน เพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจน
โฆษก กรธ.เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม กรธ.มีมติไม่บัญญัติว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ให้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับหลักคุ้มครองพระพุทธศาสนาในมาตรา 65 ที่จะมีการพิจารณาต่อไป ซึ่งเห็นว่าจะมีประโยชน์ในทางปฏิบัติมากกว่า นอกจากนี้ยังพิจารณาเกี่ยวกับการคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีมติให้ใช้การคุ้มครองปวงชนชาวไทย แทนคำว่า “บุคคล” เพื่อให้ความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ใช้คุ้มครองปวงชนชาวไทย ส่วนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งรวมถึงกรณีที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย จะบัญญัติรายละเอียดไว้ในมาตราอื่นต่อไป
นอกจากนี้ ที่การประชุม กรธ.ช่วงเช้ายังมีประเด็นสำคัญ ในมาตรา 24 หมวดพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติหลักการลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ ถวายสัตย์ต่อผู้แทนพระองค์หรือรัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะได้ และมีการเพิ่มเติมให้สามารถทำหน้าที่ระหว่างการรอถวายสัตย์ได้เลย โดยในที่ประชุมได้ยกตัวอย่างที่เคยมีกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะอยู่ระหว่างรอการถวายสัตย์ ส่วนการพิจารณาเกี่ยวหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 25 ก็บัญญัติสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่ระบุหลักการการ การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อผู้อื่น