xs
xsm
sm
md
lg

รัฐชง กม.คุมขอทาน ฉบับ สนช.เข้าสภาฯ ชี้คนเล่นดนตรีไม่ถือว่าเป็น แต่ต้องขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทานของ สนช.เนื้อหาตรงกับฉบับของรัฐบาล ต่างแค่มีกับไม่มีกรรมการควบคุม ระบุผู้แสดงดนตรีไม่ถือว่าเป็นขอทาน แต่ต้องขออนุญาตท้องถิ่นก่อน ส่วนพวกยุยงสนับสนุนขอทานมีความผิดเช่นกัน จึงส่ง 2 ฉบับไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่วม

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน ว่ารัฐบาลเคยมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว แต่ขณะนี้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่านหนึ่งเสนอเข้ามาอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับ สนช.ว่า เรื่องที่เสนอเป็นกฎหมายที่ไม่ใช่รัฐบาลเสนอ เมื่อใครเสนอมารัฐบาลขอดูก่อนว่าสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ จะได้สามารถจัดอันดับความเร่งด่วนได้ รัฐบาลจึงขอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จาก สนช.มาดูตามกำหนดระยะเวลา 20 วัน ซึ่งเมื่อดูแล้วพบว่าเนื้อหา สาระ ของกฎหมายฉบับดังกล่าว เหมือนกับฉบับที่รัฐบาลเคยผ่านความเห็นชอบไป โดยเนื้อหาที่สอดคล้องกันคือขอทาน คือคนที่ขอ เอ่ยปากวาจาให้สงสาร หรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยที่ไม่มีการทำงานตอบแทน หรือโดยไม่ให้ทรัพย์ตอบแทน ส่วนผู้ที่จะแสดงความสามารถด้านดนตรี อันนี้ไม่ถือเป็นขอทาน แต่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่จะมีการออกหลักเกณฑ์และต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ผู้ที่ยุยง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการขอทานก็จะมีความผิดเช่นกัน

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนเนื้อหาที่แตกต่างกันระหว่างฉบับของรัฐบาลกับของ สนช.คือ คณะกรรมการควบคุมขอทาน ซึ่งร่างฉบับของรัฐบาลนั้นมีคณะกรรมการชุดนี้ แต่ร่างฉบับของ สนช.จะไม่มี จึงตั้งเป็นข้อสังเกตส่งกลับไปยังสมาชิก สนช.ที่เสนอเรื่อง ซึ่งได้รับตอบกลับมาว่าไม่มีข้อกังวลใดๆ จึงส่งร่างทั้งสองฉบับไปที่ สนช.เพื่อพิจารณา ซึ่งอาจรวมทั้งสองร่างเป็นฉบับเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น