โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยประชุมพรุ่งนี้พิจารณาเรื่องที่มา ส.ว. คาดมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ลงลึกการรับสมัครและการลงคะแนนเลือกกันเอง จะให้คงไว้ให้มีที่มาจากกลุ่มทางสังคม 20 กลุ่มเหมือนเดิม แต่จะไม่บังคับว่าในแต่ละพื้นที่จะต้องได้ผู้สมัครครบ ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของแต่ละพื้นที่
วันนี้ (7 ธ.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า การประชุม กรธ.ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) จะพิจารณาเรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งค้างมาจากการประชุม กรธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหลักการต่างๆ ทาง กรธ.จะยังคงไว้ตามเดิม คือ การให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เพียงแต่จะมาพิจารณากันในรายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครและการลงคะแนนเลือกกันเองของผู้สมัครว่าจะให้ใครเป็น ส.ว.
นายอุดมกล่าวว่า ในเรื่องของการสมัคร ส.ว. ทาง กรธ.จะให้คงไว้ให้มีที่มาจากกลุ่มทางสังคม 20 กลุ่มเหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นการสมัครตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และส่วนกลางขึ้นมา ทั้งนี้ ในการสมัครระดับอำเภอนั้น ทาง กรธ.จะไม่บังคับว่าในแต่ละพื้นที่จะต้องได้ผู้สมัครครบ 20 กลุ่ม เพราะบางพื้นที่อาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ที่ส่งผลให้ไม่ได้ผู้สมัครครบ 20 กลุ่ม จึงเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของแต่ละพื้นที่
เมื่อถามว่า กรธ.มีการพูดถึงอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรหรือยุบสภาฯ หรือไม่ เนื่องจากก่อนการรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามของกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี นายอุดมกล่าวว่า กรธ.ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะให้องค์กรอื่นเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสุญญากาศทางการเมืองแทน โดย กรธ.หารือกันเพียงแค่การคิดว่าในระหว่างที่ไม่มีสภาฯ นั้นวุฒิสภาจะไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้ แต่จะมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการเดิมที่รัฐธรรมนูญในอดีตได้วางเอาไว้