ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้คดีพรรคการเมือง คดีคุณสมบัติ ส.ส. และคดีทุจริต ดำเนินคดีในสมัยประชุมได้ ป้องกัน ส.ส. - ส.ว. ใช้เอกสิทธิ์คุ้มกะลาหัว พร้อมปลดล็อกดำเนินกิจกรรมทุกเรื่องทั้งสมัยสามัญและสมัยนิติบัญญัติโดยไม่จำกัด แต่เปิดซักฟอกปีละครั้งเหมือนเดิม
วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. โดยหลักการส่วนใหญ่บทบัญญัติจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่มีบทบัญญัติที่แตกต่างไป 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. กำหนดหลักการเกี่ยวกับการห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส. และ ส.ว. ในสมัยประชุมจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และ ส.ว. 2. มีคดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำเนินคดีในสมัยประชุมนั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ ส.ส. และ ส.ว. สามารถใช้เอกสิทธิคุ้มครองโดยขอความเห็นชอบจากประธานในแต่และสภาได้ ไม่ให้นำตัวไปดำเนินคดีได้
นายอุดม กล่าวต่อว่า กรธ. ยังได้เปลี่ยนแปลงสมัยประชุมที่จากเดิมกำหนดให้เป็น 2 สมัยประชุม คือการประชุมสมัยสามัญและสมัยนิติบัญญัติ โดยยังคงให้มีการประชุม 2 สมัยเช่นเดิม แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นสมัยสามัญและสมัยนิติบัญญัติ ซึ่งจะสามารถดำเนินการกิจการในฝ่ายนิติบัญญัติได้ทุกเรื่อง ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ การพิจารณากฎหมาย โดยการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยังทำได้ปีละ 1 ครั้งตามเดิม ซึ่งจะเป็นช่วงไหนของการประชุมก็ได้.