xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีสังคมฯ มธ.-“เชฟหมี” ยื่นแถลงการณ์ มหา'ลัยไม่ใช่ค่ายทหาร จี้ คสช.หยุดคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ)
คณบดีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นำทีมยื่นแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน พร้อม 323 รายชื่อนักวิชาการ ต่อนายกฯ จี้ คสช.หยุดข่มขู่การแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ เลิกห้ามนักศึกษาจัดกิจกรรม และอย่าจุ้นการสอนในมหา'ลัย ชี้ยัดข้อหาครูละเมิดสิทธิ ยันปรารถนาดี เป็นหน้าที่ให้ความรู้ แบ่งปันความคิด ซัดยัดเนื้อหาเชิดชูทหารขัดเสรีภาพสิ้นเชิง ระบุชี้ให้เห็นปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกไม่ใช่สร้างความวุ่นวาย ด้าน “เชฟหมี ครัวกากๆ” โผล่ด้วย

วันนี้ (23 พ.ย.) ที่ศูนย์บริการประชาชน เมื่อเวลา 10.20 น. เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือเชฟหมี ครัวกากๆ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยคณาจารย์กว่า 10 คน เดินทางมายื่นแถลงการณ์กลุ่มถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงษ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชนเป็นผู้รับเรื่อง

ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวมีกลุ่มคณาจารย์และนักวิชาการอิสระร่วมทั้งในและนอกประเทศ ลงชื่อสนับสนุนทั้งหมด 323 รายชื่อ เช่น นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางนวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ

นายอนุสรณ์กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มคณาจารย์ได้ออกแถลงการเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่านฝืนประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้า คสช.”

ทางเครือข่ายจึงขอให้ คสช.หยุดข่มขู่คุกคามอาจารย์ที่แสดงความเห็นทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ หยุดสั่งห้ามนักศึกษาและประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมืองและหยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางตามที่คสช.ต้องการเพราะทางเครือฯ ข่ายเห็นว่า การตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และคุกคามให้ยุติการแสดงความเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่การกระทำของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย อันถือเป็นหน้าที่ของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้แก่สังคม และที่ผ่านมากลุ่มคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษาและแสดงความเห็นทางการเมือง ยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ คสช.ได้สั่งให้บรรจุเนื้อหาในการยกย่องเชิดชูทหารในวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า เราขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารแต่เป็นสถานที่ที่แสวงหาความรู้และถกเถียง แลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล นำมาซึ่งความรู้ใหม่ รับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความรู้จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม รวมทั้ง ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน เพราะประชาชนมีความหลากหลายทางความคิดความเชื่อทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันกันอย่างสันติสุขคือเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง

“การปฏิบัติต่อประชาชนไทยด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหู ปิดตา บังคับข่มขู่ ด้วยอำนาจที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความเห็น มีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้” นายอนุสรณ์กล่าว

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคณาจารย์ที่หลายฝ่ายมองว่าเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง นายอนุสรณ์กล่าวว่า หากไปดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2540 เรามีจุดยืนอย่างชัดเจนว่าหากรัฐบาลไหนออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่สังคมโดยรวมเราก็สนับสนุน ขณะเดียวกัน ถ้ารัฐบาลไหนมีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เราก็มีแนวทางที่จะออกมาเคลื่อนไหว

เมื่อถามว่า ผู้มีอำนาจมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวเป็นการพยายามในการปลุกปั่นเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทางใดทางหนึ่ง นายอนุสรณ์กล่าวว่า หากการชี้ชวนเพื่อให้สาธารณะเห็นว่า ปัญหาที่เรากำลังเผชิญคืออะไรเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างรอบด้าน ตนไม่เห็นว่าจะเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวาย ตรงกันข้ามจะเป็นการช่วยในการแก้โจทย์ที่เผชิญโดยอาศัยความเห็นจากทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น