โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยนายกรัฐมนตรีกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในแต่ละพื้นที่โดยเร็ว เผยกระทรวงสาธารณสุขแจงตัวเลขระบาดแต่ไม่รุนแรง วอนอย่าตื่นตระหนกเกินไป
วันนี้ (15 พ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนในช่วงที่โรคไข้เลือดออกระบาดเป็นอย่างมาก โดยได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ EOC (Emergency Operation Center) หรือศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินจังหวัด ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในแต่ละพื้นที่โดยเร็ว โดยพิจารณาการใช้งบประมาณที่ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน เนื่องจากปีนี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่าแสนราย และมีการเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคจนหลายฝ่ายอาจรู้สึกวิตกกังวลนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นวงรอบปกติของการเกิดโรค และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโรคมากที่สุด คือ มีผู้ป่วย 150,000 ราย เสียชีวิต 150 ราย จึงนับว่าปีนี้มีการระบาด แต่ไม่รุนแรง ประกอบกับปีนี้อากาศค่อนข้างร้อน เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก แต่ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้อัตราการแพร่ระบาดค่อยๆ ลดลง ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
“นายกฯ ยังสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขจัดชุดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาทางสาธารณสุขได้ส่ง อสม.ลงพื้นที่และแจกทรายอะเบทให้ประชาชนนำไปใส่ในแหล่งน้ำ และฉีดพ่นยาฆ่ายุงตัวแก่เพื่อตัดวงจรชีวิตยุง รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง คว่ำภาชนะไม่ให้ยุงวางไข่ เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย และตรวจสอบสภาพมุ้งลวดให้พร้อมใช้งาน” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึม คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค