เพจดังเผย หจก.นักการเมืองใหญ่ในพื้นที่เมืองอุบลฯ กวาดเรียบ 4 บิ๊กโครงการพัฒนา “ห้วยวังนอง” เมืองอุบลฯ วงเงิน 278 ล้านบาท ก่อน “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่อุบลราชธานีพรุ่งนี้ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำ-โครงการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้าน อดีต ส.ส.ปชป.เสียดายจังหวัดปิดกั้น นายกฯ ลงรับปัญหา อ.นาเยีย
วันนี้ (11 พ.ย.) มีรายงานว่า เพจชื่อดัง “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ได้เผยแพร่ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยวังนอง จ.อุบลราชธานี โดยพาดหัวเพจว่า “หจก.นักการเมือง กวาดเรียบ 4 โครงการพัฒนาห้วยวังนอง อุบลฯ วงเงิน 278 ล้าน” เพจดังกล่าวระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยวังนอง จ.อุบลราชธานี พบมีการดำเนินประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2556-2557 จำนวน 4 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมกัน 278 ล้านบาท อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 200 ล้านบาท หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้งสองโครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยวังนอง ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2
1. โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยวังนอง ตามผังเมืองรวม เมืองอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระยะที่ 1 งบประมาณ 80 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2556-2557 เป็นงานก่อสร้างถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก และระบบระบายน้ำ รวมทั้งงานระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานก่อสร้างสะพานและท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ในพื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี ข้อมูลเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบเศษกระดาษแสดงใบประเมินราคาสรุปยอด 2 แผ่น ไม่มีรายละเอียดอื่น ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 20 มิถุนายน 2556 เลขที่โครงการ 56055219698 มีผู้ซื้อซอง 13 ราย เข้ายื่นซองและเสนอราคาเพียง 4 ราย หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง ชนะการเสนอราคาที่ 79,290,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 710,000 บาท หรือ 0.89%
2. โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยวังนอง ตามผังเมืองรวม เมืองอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระยะที่ 2 งบประมาณ 120 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2557-2559 เป็นงานก่อสร้างเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้า งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานก่อสร้างงานภูมิทัศน์ แต่ข้อมูลในเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบเพียงแบบประเมินราคางานสร้างสวนสาธารณะและศูนย์การเรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Construct Wetland) ในเขตเทศบาลตำบลเขื่องใน อ.เขื่องใน วงเงิน 39.9 ล้านบาท ไม่มีรายการอื่น ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2557 เลขที่โครงการ 56055219698 มีผู้ซื้อซอง 9 ราย ยื่นซองเพียง 3 ราย และเข้าเสนอราคา 2 ราย หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง ชนะการเสนอราคาที่ 118,810,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,190,000 บาท คิดเป็น 0.99%
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบดำเนินการ 2 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 78 ล้านบาท หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้งสองโครงการเช่นกัน ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างประติมากรรมบัวห้วยวังนอง และโครงการก่อสร้างประติมากรรมบัวห้วยวังนอง ระยะที่ 2
1. โครงการก่อสร้างประติมากรรมบัวห้วยวังนอง จ.อุบลราชธานี วงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ลักษณะงานเป็นการก่อสร้างสระบัวคอนกรีตกลางน้ำ 24 จุด ทางเดิน บันได และท่าน้ำในห้วยวังนอง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2556 เลขที่โครงการ 56075090675 มีผู้ซื้อ 5 ราย ยื่นซองและเสนอราคาเพียง 2 ราย คือ หจก.ไทยเจริญศรีสะเกษ เสนอราคา 29,940,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 60,000 บาท ส่วนผู้ได้งาน คือ หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง เสนอราคา 29,880,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 120,000 บาท หรือ 0.4% สองรายเสนอราคาห่างกันเพียง 60,000 บาท
2. โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน: ก่อสร้างประติมากรรมบัวห้วยวังนอง ระยะที่ 2 งบประมาณ 48,361,500 บาท เป็นงานสร้างระบบน้ำพุ แสงสีเสียง ไฟฟ้าส่องสว่าง ม้านั่ง ถังขยะและอื่นๆ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 9 กรกฎาคม 2557 เลขที่โครงการ 57065201503 มีผู้ซื้อซอง 8 ราย ยื่นซองและเสนอราคา 6 ราย โดย 3 ราย เสนอราคาเท่ากันที่ 48,271,500 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 90,000 บาท อีกสองรายเสนอราคาเท่ากันที่ 48,270,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 91,500 บาท ส่วน หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง ซึ่งชนะการประมูล เสนอราคาที่ 48,260,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 101,500 บาท หรือ 0.2%
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า หจก.อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีหุ้นส่วน 3 ราย เป็นอดีต ส.ส.พรรคใหญ่ในจังหวัด
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาแก้ปัญหากรณีได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่ามีบริษัทเอกชนชื่อว่า “อุบลไบโอ เอทานอล จำกัด” ได้ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำโดมใหญ่ อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี
“พบว่ามีบุคคลระดับที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลปัจจุบัน มีหุ้นส่วนในบริษัทดังกล่าวด้วย และอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ลงไปดูและเร่งรัดการแก้ปัญหาการปล่อยน้ำเสีย เพราะผลของการปล่อยน้ำเสียส่งผลให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพิบูลมังสาหาร ต้องส่งหนังสือแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับการบริโภคน้ำ และการหยุดจ่ายน้ำ
มีรายงานภารกิจการลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ในวันที่ 12 พ.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางจาก กทม.โดยเครื่องบินของกองทัพบกไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ก่อนเดินทางต่อไปถึงบ้านยางกะเดา ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง ในเวลา 09.30 น. เพื่อติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการสนับสนุนด้านการเกษตร ต่อด้วยตรวจเยี่ยมการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบด้วย กิจกรรมกองทุนหมู่บ้าน โรงสีหมู่บ้าน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และตลาดประชารัฐ
จากนั้นเวลา 11.45 น. นายกฯ และคณะจะเดินทางไปยังศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยกับภาคเอกชนส่วนกลาง ต่อด้วยเป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ) โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกฯ จะเดินทางกลับถึง กทม.ในเวลา 17.20 น.
ขณะที่นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่อุบลฯ ว่า เป็นที่น่าเสียดายว่าทาง จ.อุบลราชธานี พยายามกีดกันไม่ให้ประชาชนมาร้องเรียนปัญหาต่อนายกฯ โดยตรง จึงเปลี่ยนแปลงกำหนดการไม่ให้นายกฯลงพื้นที่ อ.นาเยีย ดังนั้นตนจึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ลงพื้นที่ อ.นาเยีย ตามกำหนดการเดิม เพื่อจะได้เห็นปัญหาด้วยตัวเอง
สำหรับปัญหาที่ประชาชนเตรียมร้องเรียน ประกอบด้วย 1. ปัญหาโรงงานผลิตเอทานอล ปล่อยน้ำเสีย ปิดกั้น บุกรุกทางสาธารณะ และแหล่งน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงขอให้หยุดผลิตเอทานอลจนกว่าจะแก้ปัญหาเสร็จสิ้น 2. ปัญหาโรงโม่หิน ที่ อ.น้ำยืน รุกพื้นที่ป่าสงวน ก่อให้เกิดฝุ่นละอองต่อประชาชน และนักเรียน รถบรรทุกน้ำหนักเกินทำให้ถนนเสียหาย จึงขอให้หยุดผลิตและยกเลิกสัมปทาน และ 3. ปัญหาการก่อสร้างถนน 4 เลน อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ งบประมาณ 930 ล้านบาท ที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เพราะขั้นตอนการทำงานผิดพลาด ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย ประชาชนเดือดร้อน จึงขอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข