หน.พรรคคนไทย หนุน หลักการ กรธ. กำหนด ส.ส. มาจากเลือกตั้งโดยตรง แนะ เลิกบัญชีรายชื่อ ชี้เป็นระบบอุปถัมภ์ ไม่รู้จะได้ใครมา สุดโต่งให้เลิก ส.ว. ฉะ เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหา ค้านนำคะแนนผู้แพ้ไปใส่ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ตรงความตั้งใจปชช. ย้ำ ส.ส. ควรมี 1 คน ต่อ ปชช. 2 แสนคนขึ้นไป ติงที่ผ่านมามีมากเกินจำเป็น เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ลดวาระเหลือ 2 ปี ให้แข่งทำความดี
วันนี้ (27ต.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการวางแนวทางระบบการเลือกตั้งของคณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการที่กำหนดให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งหากยึดตามหลักการนี้ ก็ควรที่จะยกเลิกระบบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะถือว่าไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนโดยตรง แต่เป็นหัวหน้า หรือผู้บริหารพรรคเป็นผู้คัดสรรมา และยัดเยียดให้กับประชาชนมากกว่า จึงจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีคนที่ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของระบบอุปถัมภ์ และความไม่เท่าเทียม เพราะมักเป็นทายาทของนักการเมืองใหญ่ หรือเป็นนายทุนของพรรค หากเคารพเสียงของประชาชนในการเลือกผู้แทนจริง ๆ ควรที่จะกำหนดให้มีเฉพาะ ส.ส. เขต ที่ประชาชนได้รู้ว่าลงคะแนนให้ใครมากกว่าลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ไม่รู้จะได้ใครมาเป็นผู้แทน นอกจากนี้ ควรนำหลักการนี้ไปใช้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย หากจะมีต้องเลือกตั้งโดยตรงเพียงอย่างเดียว ไม่ควรให้คนไม่กี่คนเลือก ส.ว. ในลักษณะสรรหา แล้วมาอุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นผู้แทนของประชาชน แต่ทางที่ดีไม่จำเป็นต้องมี ส.ว. ด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหามากกว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาของประเทศ
“ผมไม่เห็นด้วยที่ กรธ. บอกว่า จะให้ประชาชนใช้ใบลงคะแนนเลือก ส.ส. เขตเพียงใบเดียว แล้วนำคะแนนของผู้แพ้แต่ละเขตไปคิดเป็นคะแนนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะในความเป็นจริง ประชาชนต้องการลงคะแนนให้กับบุคคล แต่กลับถูกนำไปยัดใส่เป็นคะแนนพรรค ซึ่งไม่ตรงกับตวามตั้งใจของประชาชนในการลงคะแนน” นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวต่อว่า ตนยังขอยืนยันว่า อัตราส่วน ส.ส. ที่เหมาะสมคือ ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 2 แสนคนหรือมากกว่า เพื่อจำกัดจำนวน ส.ส. ให้น้อยลงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมีมากจนเกินความจำเป็น และสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล สภาผู้แทนฯต้องขลังและศักดิ์สิทธิ์ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ หากยึดตามแนวทางนี้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ที่มีปัญหามาตลอด และไม่คืบหน้าก็อาจจะชะลอหรือยกเลิกไปก่อน เพราะอาคารรัฐสภาปัจจุบันก็เพียงพอกับจำนวน ส.ส. ที่มีไม่มากเหมือนในอดีต นอกจากนี้ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก็ควรกำหนดในช่วงต้นไว้เพียง 2 ปี เพื่อให้ ส.ส. ได้แข่งขันในการทำหน้าที่ ทำดีเพื่อบ้านเมือง ที่สำคัญ จะช่วยแก้ปัญหาการซื้อเสียงที่อาจไม่คุ้มค่ากับระยะเวลาที่สั้น อีกทั้งไม่สร้างความเบื่อหน่ายให้กับสังคมจนเป็นเหตุให้มีการชุมนุม หรือรัฐประหารอีกด้วย
“จำนวน ส.ส. ต้องคงที่ตายตัว ไม่เพิ่มไปมากกว่าที่กำหนด ต้องมีที่มาที่ไปสมเหตุสมผล ไม่ใช่มาตั้งเป็นเลขกลม ๆ สวย ๆ แต่ผลสัมฤทธิ์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป เช่น 500 คน หรือสภา 500 อย่างที่ผ่านมา และเมื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งแล้ว จำนวน ส.ส.ควรจะลดลง ส่วนระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอาจขยายขึ้นตามความเหมาะสมเป็น 4 ปี ตามที่ใช้กันมาก็ได้ เมื่อมีตัววัดผลแล้วว่า ประชาชนได้เรียนรู้และสร้างระบบการเลือกตั้งที่มีคุณภาพแล้ว” นายอุเทน กล่าว.