ที่ประชุมวิป สนช. เผยอยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบ 3 ประสาน จับมือ สปท. และ กรธ. ให้ปฏิรูปได้เร็ว สมบูรณ์ที่สุด เปรย “มีชัย” ใช้โครงการ สนช. พบประชาชน รับฟังร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมส่ง กรธ. ไปด้วย ชิมลาง ยโสธร - อุบลราชธานี และเตรียมร่วมแจมนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมวิป สนช. ได้มีการหารือกันถึงเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง สนช., สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเห็นว่ารูปแบบการทำงานคงต้องเปลี่ยนไปจากเดิม หลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหมดหน้าที่ลง เพราะหน้าที่ของ สปท. เน้นการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้เกิดผลอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบ 3 ประสานการทำงานร่วมเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้เร็ว สมบูรณ์ที่สุด
ขณะเดียวกัน จะมีความร่วมมือระหว่าง สนช. และ กรธ. โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ดำริให้ใช้โครงการ สนช. พบประชาชนเป็นอีกช่องทางเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การลงพื้นที่ สนช. พบประชาชนครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 1 พ.ย. นี้ ที่ จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี จะมี กรธ. ส่วนหนึ่งเข้าไปร่วมลงพื้นที่ รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย อบต. อบจ. และเทศบาลต่าง ๆ ร่วมแสดงความเห็นด้วย นอกจากนี้ ในการที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะลงพื้นที่พบปะประชาชนมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักนั้น ทาง สนช. มีมติให้คณะกรรมาธิการสามัญของ สนช. แต่ละคณะที่เกี่ยวข้องไปร่วมลงพื้นที่เพื่อประสานการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลด้วย
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการดำเนินงาน โครงการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติพบประชาชน หรือ สนช. พบประชาชน เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายมีชัยถึงการประสานการทำงานร่วมกับ สนช. กับ กรธ. นั้น นายมีชัย จะส่งตัวแทนของ กรธ. ไปร่วมโครงการ สนช. พบประชาชนด้วย เพื่อใช้เวทีดังกล่าวเพื่อไปรับฟังความเห็นชอบประชาชนเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 1 พ.ย. นี้ ที่ จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ตนจะนำกลับมาหารือว่า รูปแบบในการลงพื้นที่จะเป็นอย่างไร เพราะนอกจากจะรับฟังปัญหาความเดือนร้อนในพื้นที่แล้ว จะต้องรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญควบคู่ด้วย แต่เบื้องต้นตนคิดว่า จะรับฟังเฉพาะประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจจริง ๆ อย่างประเด็นทางการเมือง อาทิ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของ ส.ส. ส.ว. และระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น เพราะหากฟังทุกเรื่องจะมีความหลากหลายมาก จนกระทั่งอาจจะไม่เกิดประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ เพราะเรามีเวลาในการทำงานจำกัด