อดีต สปช.ด้านสังคม ติงอดีต ผบ.ตร.ทบทวนความคิดหนุนเปิดบ่อน ย้อน ตร.มีหน้าที่ป้องกันอบายมุขไม่ใช่หนุน ชมทำงานดีแต่เรื่องนี้ทำไม่ถูก ลั่นต้านถึงที่สุด “สิงห์ชัย” แนะรัฐธรรมนูญจะผ่านอย่าเขียนให้พรรคการเมืองโจมตี แก้ปมล่อเป้า กำหนดอำนาจ คปป.ให้ชัด
วันนี้ (1 ต.ค.) นายสิระ เจนจาคะ อดีต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสังคม กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังออกมายืนยันสนับสนุนให้มีการเปิดกาสิโนเสรีในประเทศ แม้จะถูกหลายฝ่ายคัดค้านว่า พล.ต.อ.สมยศได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งที่ถือว่าสูงที่สุดสำหรับอาชีพตำรวจ ถือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคนหนึ่ง แต่การที่ พล.ต.อ.สมยศยังประกาศที่จะสนับสนุนกาสิโนนั้น ตนอยากให้ พล.ต.อ.สมยศ ทบทวนเรื่องดังกล่าว ถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น
นายสิระกล่าวต่อว่า ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและอบายมุขทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ใช่เป็นการสนับสนุน ตลอดการทำงานของ พล.ต.อ.สมยศ ที่ผ่านมาก็ถือว่าไม่ได้มัวหมอง ตนจึงไม่เข้าใจว่า พล.ต.อ.สมยศจะเอาชื่อตัวเองมาข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อสาเหตุอะไร พล.ต.อ.สมยศ ควรที่จะเห็นถือสิ่งเลวร้ายที่กำลังจะเข้ามอมเมาเยาวชนและประชาชนคนไทย ซึ่งการทำอาชีพตำรวจนั้นก็ต้องสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิต แต่กลับออกมายืดอกสนับสนุนเช่นนี้ ตนถือว่า พล.ต.อ.สมยศกำลังทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
“ในฐานะอดีต สปช.ที่เคยออกมาต่อต้านเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะขอฝากไปถึง พล.ต.อ.สมยศ ว่าผมจะต่อต้านและคัดต้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด แม้ตอนนี้จะไม่มีตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจอะไร แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของประเทศจะไม่ปล่อยให้อบายมุขเหล่านี้มาทำลายประเทศชาติอย่างแน่นอน” นายสิระกล่าว
ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปได้ ก็ต้องพยายามเขียนอย่าให้มีประเด็นที่พรรคการเมืองจะนำมาโจมตีได้ อย่าเขียนล่อเป้าแบบร่างที่ผ่านมา ส่วนที่สำคัญคือประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่าน สปช. เนื้อหาหลายๆ ส่วนดีมาก เช่น สิทธิของประชาชน แต่มีประเด็นที่ถูกหยิบมาโจมตีเพียงส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ที่มานายกฯ การเลือกตั้ง ส.ส.และที่มา ส.ว. จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านและทำให้ถูกโหวตคว่ำในที่สุด หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถปรับแก้ตรงนี้ให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายการเมืองและฝ่ายผู้มีอำนาจได้ รวมทั้งต้องเขียนอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ให้ชัดเจน เชื่อว่าจะผ่านการทำประชามติไปได้