xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ แจง ม.37 รธน.ชั่วคราว ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิษณุ” ระบุมาตรา 37 รัฐธรรมนูญชั่วคราวยึดเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติ ใครไม่มานับเป็นศูนย์ ไม่ได้ยึดเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิตามที่ สปช.บางคนเข้าใจ รับถ้อยคำทำให้ดูมีปัญหา ส่วนการถอดยศ “นช.แม้ว” อยู่ระหว่างขั้นตอนพิมพ์รายละเอียดก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรค 7 ที่ระบุว่าการออกเสียงประชามติให้ยึดเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” ออกเสียง หมายความว่าเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ “ผู้มีสิทธิ” ไม่ใช่ “ผู้มาใช้สิทธิ” ว่า เขาเข้าใจคนละอย่างกับที่ตนเข้าใจ ยอมรับว่าถ้อยคำทำให้ดูมีปัญหา โดยในมาตรา 37 เขาใช้คำว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ ทีนี้มีคนไปอ่านบอกว่าเขาไม่ได้ใช้คำว่าผู้มาใช้สิทธิ เสียงข้างมากจึงเป็นเสียงของผู้มีสิทธิทั้งหมด สมมุติมีผู้มีสิทธิจำนวน 40 ล้านคน จะต้องใช้เสียงเห็นชอบเกิน 20 ล้านคนร่างรัฐธรรมนูญถึงจะผ่าน มีคนแปลความอย่างนั้นซึ่งแปลได้ แต่แปลอย่างนั้นคงยากเพราะว่า สมมติมี 40 ล้านคน แล้วออกมาใช้สิทธิ 10 ล้านคน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 7 ล้านคน ซึ่งไม่ถึงเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ 40 ล้านคน แต่เป็นเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิ ถามว่าคุณพูดได้อย่างไรว่าอีกสิบกว่าล้านเสียงที่ไม่มาจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

“ดังนั้นต้องถือว่าเสียงของผู้ที่ไม่ได้มานั้นเป็นศูนย์ และต้องมาวัดกันตรง 10 ล้านคนที่ออกมาใช้สิทธิ ที่ต้องย้ำแบบนี้เพราะว่าเราไม่สามารถจะพูดได้ว่าคนที่มีสิทธิแต่ไม่มาใช้สิทธิเขาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ จะบอกว่าการที่เขามีสิทธิแต่ไม่มาใช้สิทธิแปลว่าเขาไม่เห็นชอบ ถ้าพูดอย่างนั้นมันจะมากกว่า 7 ล้านคน ซึ่งพูดอย่างนั้นไม่ได้ การไม่ได้มาใช้สิทธิไม่ได้แปลว่าเขาไม่เห็นชอบ และไม่รู้แปลว่าอะไร แต่ที่แปลได้แน่ๆ คือ คนที่มาใครมากกว่ากัน วันนั้นมาเท่าไหร่ให้ยึดเสียงข้างมาก”

รองนายกฯ กล่าวว่า ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้คำเหมือนคราวนี้ เพียงแต่ครั้งนั้นเขาใช้คำละเอียดกว่า ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 เขียนว่าในการลงประชามติจะต้องให้มีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิจึงจะเรียกว่าเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้อง มิฉะนั้นการทำประชามตินั้นโมฆะ เหตุนี้เราถึงไม่เอา พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้ เอามาแต่เฉพาะโทษเท่านั้น และเขียนเรื่องประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน ซึ่งการที่เขาไม่เอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้ก็เพราะเจตนาให้เป็นอีกแบบหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงไม่เขียนให้ชัดเจนระหว่างผู้มีสิทธิกับผู้มาใช้สิทธิ นายวิษณุกล่าวว่า เทคนิคการเขียนกฎหมายมีหลายวิธี แต่โดยมากเวลาเกิดเรื่องแล้วจึงมาบอกว่าทำไมไม่เขียนให้ชัด ซึ่งตอนเขียนก็นึกว่าชัดไปแล้ว

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าเซ็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ว่า เข้าใจว่าเป็นขั้นตอนพิมพ์รายละเอียดต่างๆ เนื่องจากหากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาจะต้องมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ส่วนเรื่องการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แยกออกมาต่างหาก เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับและระเบียบคนละส่วน โดยจะต้องมีการตั้งเรื่องว่าเริ่มต้นจากที่ไหน อยู่ดีๆ ไปนึกเองขอเรียกคืนไม่ได้ ใครจะเป็นคนตั้งเรื่องก็ได้ แต่เข้าใจว่าคงจะเป็นทางตำรวจ เพราะคนอื่นจะไปรู้ดีได้อย่างไรว่าเขาผิดอะไร

ส่วนที่ชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ 41 ไปฟ้องศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นไร จะฟ้องได้หรือไม่ได้ตนไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของเขา แต่ประเภทที่มาบอกว่าไม่เคยมีการถอดยศตำรวจที่พ้นตำแหน่งไปนานแล้วนั้นทางตำรวจเคยรายงานมาแล้วว่าเคยมีการถอด พ้นไป 5 ปี 10 ปี หากมีความผิดสามารถถอดยศได้ ขนาดตำรวจยศกิตติมศักดิ์ที่ไม่เคยเป็นตำรวจเขายังเคยถอดยศมาแล้ว หากจะมาบอกพ้นจากความเป็นตำรวจแล้วถอดไม่ได้ ถามว่าแล้วจะถอดตอนไหน ในอดีตเองเคยมีมาแล้วกรณีของนายชลอ เกิดเทศ ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในคดีเพชรซาอุฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น